กฎหมายกับการรับจ้างทำข้อสอบออนไลน์

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

 

 

 

กฎหมายกับการรับจ้างทำข้อสอบออนไลน์

 

ดร.ยศพนธ์ นิติรุจิโรจน์

 

            

            เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโคโรน่าหรือโควิด-19 การอยู่ใกล้ชิดกันภายในระยะ 1-2 เมตรอาจเป็นเหตุให้ติดเชื้อโรคดังกล่าวได้ ทำให้การเรียนการสอนในชั้นเรียนตามปกติไม่อาจดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาไปจนทำให้อาจารย์สามารถสอนนักศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว แม้ว่าการเรียนการสอนออนไลน์นี้อาจติดขัดในด้านเทคนิคไม่เหมือนการมาเรียนในชั้นเรียนก็ตาม

            แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการศึกษาก็คือการสอบวัดระดับความรู้ของนักศึกษาว่าสมควรที่จะผ่านการศึกษาในรายวิชานั้นแล้วหรือไม่ แต่สถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้การนั่งสอบในห้องสอบและมีอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่คอยนั่งคุมคงไม่สามารถทำได้ ดังนั้น รูปแบบการสอบในสถานการณ์เช่นนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบออนไลน์เช่นกัน แต่การสอบโดยไม่มีคนคุมเช่นนี้ก็น่าเป็นที่กังวลว่านักศึกษาจะทุจริตหรือไม่ และในปัจจุบันก็ได้มีอาชีพที่ส่งเสริมการทุจริตการสอบแล้ว ได้แก่ อาชีพรับจ้างทำข้อสอบ หากพิจารณาตามระเบียบของสถานศึกษาแล้ว ผู้ทำการทุจริตในการสอบอาจถูกลงโทษหลายประการ เช่น ปรับให้สอบตกรายวิชานั้นหรือทุกรายวิชาที่ได้ลงทะเบียนในภาคการศึกษานั้น สั่งพักการศึกษาหรือจนกระทั่งให้พ้นสภานภาพการเป็นนักศึกษา เป็นต้น แต่ผู้ทุจริตการสอบนั้นเป็นความผิดทางกฎหมายหรือไม่ และบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่นักศึกษาจะต้องรับผิดเพียงใดยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจ 

           ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการรับจ้างทำข้อสอบนั้น ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงตัวอย่างเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาการลงโทษผู้กระทำการทุจริตการสอบในทางกฎหมาย 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกเป็นการทุจริตสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2559 คดีนี้ในเบื้องต้นพนักงานตำรวจไม่สามารถแจ้งข้อหานักศึกษาที่ทำการทุจริตได้เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายอาญาที่ระบุไว้ว่าเป็นความผิด แต่ในภายหลังพนักงานตำรวจได้ตั้งข้อหานักศึกษาคนหนึ่งที่ทุจริตสอบในข้อหานำพาเอกสารผู้อื่นไปเสียโดยไม่ได้รับอนุญาต1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188และเหตุการณ์ที่สอง คือ เหตุการณ์การรับจ้างทำข้อสอบเข้าโรงเรียนนายสิบตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 ด้วยวิธีการว่าจ้างนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์และวิศวะจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ สมัครเข้าร่วมสอบแข่งขันเพื่อให้ผู้เข้าสอบตัวจริงลอกข้อสอบ คดีนี้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 พนักงานตำรวจได้ขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับผู้รับจ้างทำข้อสอบในฐานความผิดอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2093 และฐานความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม4ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 145 อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ทราบว่าผลสุดท้ายทั้งสองคดีนี้ศาลได้ตัดสินว่าอย่างไร แต่เหตุการณ์ทั้งสองกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการทุจริตการสอบ หากแต่ยังเป็นเพียงการผิดระเบียบของสถานศึกษาเท่านั้น 

            เมื่อปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตในวงวิชาการ จนได้มีการบัญญัติฐานความผิดว่าด้วยการรับจ้างทำงานวิชาการไว้ในมาตรา 70 ประกอบมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติ การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ว่า ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจึงเป็นที่น่าพิจารณาว่าผู้ทุจริตการสอบและผู้รับจ้างทำข้อสอบนั้นจะมีความผิดตามมาตรานี้หรือไม่

            หากพิจารณาตามลายลักษณ์อักษรจะเห็นได้ว่ามาตราดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งลงโทษผู้ที่ทุจริตในการทำงานวิชาการ ทั้งงานวิชาการที่ใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหรือเพื่อใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งนิยามคำว่า “ผลงานวิชาการ” นั้นได้ปรากฏอยู่ในประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2560 หมายถึง “ผลงานทางวิชาการที่เป็นเอกสารที่ใช้ประกอบในการประเมินผลการสอนวิชาใดวิชาหนึ่งตามหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาที่สะท้อนให้เห็นเนื้อหาวิชาและวิธีการสอนอย่างเป็นระบบจัดเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้สอนในการใช้ประกอบการสอน” จะเห็นได้ว่านิยามนี้บังคับใช้กับการขอตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงผลงานวิชาการของนักศึกษาด้วย แต่เมื่อพิจารณาจากนิยามของประกาศ ก.พ.อ. ดังกล่าวแล้วอาจกล่าวได้ว่า ผลงานวิชาการของนักศึกษาน่าจะหมายถึง “ผลงานที่นักศึกษาทำขึ้นแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อนำไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา” แต่คำตอบของข้อสอบนั้นถูกทำขึ้นเพื่อตอบคำถามที่อาจารย์ถามเพื่อใช้วัดระดับความรู้ของนักศึกษา ซึ่งคำตอบนั้นอาจจะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการได้ ดังนั้น หากจะตีความว่าคำตอบคือผลงานทางวิชาการก็น่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุดังกล่าวในความเห็นของผู้เขียน การนำมาตราดังกล่าวมาปรับใช้ลงโทษผู้ทุจริตการสอบและผู้รับจ้างทำข้อสอบก็น่าจะไม่อาจทำได้

            ส่วนในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาการทุจริตการสอบนั้นไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย เพียงแต่เป็นการผิดระเบียบของสถาบันศึกษาเท่านั้น โดย David Swisher ให้เหตุผลว่าแม้การทุจริตการสอบจะถือเป็นการโกหกอย่างหนึ่งเหมือนความผิดทางกฎหมายอาญาฐานอื่น ๆ แต่กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดไว้เป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้เนื่องมาจากตามระบอบกฎหมายของสหรัฐอเมริกานั้น บุคคลมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำสิ่งใดก็ได้ เว้นแต่จะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และในการทุจริตสอบนั้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดก็คือผู้ที่ทำการทุจริตเสียเอง (The person who gets hurt the most by it is the one who’s doing it)6ในส่วนของประเทศจีนนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1977 (แก้ไขครั้งที่ 9) ค.ศ. 2015 มาตรา 284 กำหนดให้การทุจริตการสอบระดับชาติเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีและหากเป็นการทุจริตสอบที่มีผลเสียหายร้ายแรงจะมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ ปีแต่ไม่เกิน 7 ปี7 在法律定的国家考中,组织作弊的,三年以下有期徒刑或者拘役,并或者单处罚金;情节严重的,三年以上七年以下有期徒刑,并处罚金。 ทั้งนี้ศาลประชาชนสูงสุดแห่งสาธารณประชาชนจีน (人民共和国最高人民法院) ได้อธิบายคำว่า “การสอบระดับชาติ” หมายถึง การสอบเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา การสอบเข้าเป็นข้าราชการระดับชาติและระดับท้องถิ่น การสอบวัดคุณสมบัติประกอบวิชาชีพกฎหมาย ฯลฯ เท่านั้น ไม่รวมถึงการทุจริตสอบในสถานศึกษาโดยทั่วไป8

            ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ต้องมีการเรียนการสอนออนไลน์เช่นนี้ ประเทศไทยอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าควรจะกำหนดให้การรับจ้างทำข้อสอบให้เป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่จะต้องหามาตรการใหม่ ๆ มาตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ทุจริตการสอบ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจน สถานศึกษาอาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดในการวัดผลการเรียนของนักศึกษาโดยเน้นคุณค่าของการเรียน “LEARNING” มากกว่าคะแนนสอบ ควรเน้นที่กระบวนการเรียนมากกว่าการสอบ และให้ความสำคัญที่ผลลัพธ์การเรียนรู้มากกว่าผลการสอบ9


            [1] MTHAI, น.ศ. โกงสอบหมอ ม.รังสิต มอบตัว ราย-หมายเรียกอีก คนAvailable at: https://news.mthai.com/social-news/493841.html, retrieved date: April 10, 2020.

            [2] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 

            “ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

             [3] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209

            ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

            [4] พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 

            “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                        (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

                        (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

                        (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

                        (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

                        (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”

            [5] ไทยรัฐ, หมายจับ 51 นศ. ม. ดัง หัวกะทิคณะหมอ-วิศวะ โกงสอบนายสิบ บช.น.Available at: https://www.thairath.co.th/content/832166matichon.co.th/local/crime/news_434694, retrieved date: April 10, 2020.

            [6] Quora, Why is academic cheating not illegal? Also, what does it mean when a student cheats many times, never gets caught, gets the degree, ends up getting job offers and goes on to have a successful career, Available at: https://www.quora.com., Retrieved date: April 10th, 2020.   

            [7] 检察法律法规库,中华人民共和国刑法修正案(九)Available at: https://www.spp.go v.cn/spp/fl/201802/t20180205_364562.shtml., Retrieved date: April 10th, 2020.    

            [8] 中华人民共和国最高人民法院,《最高人民法院、最高人民检察院关于办理组织考试作弊等刑事案件适用法律若干问题的解释》新闻发布会,Available at: http://www.court.gov.cn/zixun-xiangqing-181102.html, Retrieved date: April 10th, 2020.    

            [9] สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาวิชาการ (Academic Extension and Development Office: AEDO) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

  • 12298 ครั้ง