คำแนะนำในการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

คำแนะนำในการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย

     ในการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายของนักศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีนั้น อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบมักตรวจพบข้อบกพร่องในการเขียนตอบข้อสอบของนักศึกษาอยู่หลายประการ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อคะแนนหรือเกรดของนักศึกษาได้ไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความผิดพลาดบกพร่องนั้นว่าสำคัญเพียงใดและมากน้อยเพียงใด บทความนี้จึงขอกล่าวถึงข้อบกพร่องในการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายของนักศึกษาชั้นปริญญาตรีที่พบเห็นอยู่เป็นประจำ ดังนี้

     ประการที่หนึ่ง วางหลักกฎหมายไม่ถูกต้อง ไม่มีใจความสำคัญของมาตรานั้นหรือบทกฎหมายในเรื่องนั้น แน่นอนว่าการเขียนตอบโดยไม่วางหลักกฎหมาย หรือวางหลักกฎหมายไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน อาจารย์ผู้ตรวจย่อมหักคะแนนเป็นปกติธรรมดา ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอาจารย์ผู้ตรวจแต่ละท่าน วิธีที่แนะนำคือเมื่ออาจารย์ได้สอนเนื้อหาในเรื่องนั้นในห้องเรียนแล้ว ให้เราอ่านหนังสือในเรื่องนั้นในทันที จะทำให้เราอ่านหนังสือได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย และถ้าเข้าใจหลักกฎหมายนั้นดีในระดับหนึ่งแล้ว ให้ท่องจำตัวบทกฎหมายในทันที จะทำให้เราจำตัวบทกฎหมายได้อย่างแม่นยำ อย่าไปท่องจำตัวบทกฎหมายในช่วงก่อนสอบหรือใกล้วันสอบมากเกินไป เพราะจะทำให้เราเกิดความพะวงและกดดัน ซึ่งทำให้จำตัวบทกฎหมายได้ไม่แม่นยำหรืออาจจะจำผิดบ้างถูกบ้าง ส่วนการท่องตัวบทกฎหมายนั้น จะท่องโดยฝึกเขียนหรือท่องออกเสียงปากเปล่าก็ได้ แต่หากจะให้ดี ควรจะทำทั้ง 2 อย่าง เพราะจะเป็นผลดีกับนักศึกษาเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในการสอบข้อเขียนหรือสอบปากเปล่า หากนำไปใช้ในการสอบข้อเขียน จะทำให้เราใช้เวลาในการวางหลักกฎหมายน้อยลง เพราะได้ฝึกฝนมาแล้ว ทำให้มีเวลาเหลือในการทำข้อสอบมากขึ้น ถ้านำไปใช้ในการสอบปากเปล่า จะทำให้เราพูดอธิบายหลักกฎหมายได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ติดขัด มีจังหวะและน้ำเสียงในการพูดอธิบายได้ดี ซึ่งส่งผลให้ได้คะแนนดีในการสอบปากเปล่า

     ประการที่สอง ไม่อ้างเลขมาตราของกฎหมาย การอ้างเลขมาตราของตัวบทกฎหมายนั้นเป็นข้อดีในการเขียนตอบข้อสอบกว่าการที่ไม่ได้อ้างเลขมาตราของกฎหมายมาแน่นอน ข้อสอบบางวิชานั้นมีมาตราที่เป็นคำตอบของคำถามอยู่หลายมาตรา การอ้างเลขมาตราจะช่วยให้เราทำข้อสอบได้เร็วยิ่งขึ้น ตอบได้ครบประเด็นและถูกต้องสมบูรณ์มากขึ้น อย่างไรก็ดี หากอ้างเลขมาตราของกฎหมายผิด ย่อมต้องถูกหักคะแนน ฉะนั้น ถ้าจำเลขมาตราได้ ให้เขียนตอบไปตามหลักกฎหมายแล้วตามด้วยเลขมาตราของกฎหมายนั้นเสมอ เว้นแต่ว่าเราจำเลขมาตราไม่ได้หรือไม่แน่ใจว่าเป็นมาตราใดของกฎหมายนั้น ก็ให้เขียนตอบเฉพาะหลักกฎหมายพอ แต่คะแนนก็ไม่อาจได้มากเท่ากับคนที่ตอบทั้งหลักกฎหมายและเลขมาตราของกฎหมาย ฉะนั้น ในการท่องจำตัวบทกฎหมายจึงควรต้องท่องจำเลขมาตราของกฎหมายให้ได้ด้วยไปพร้อม ๆ กัน

     ประการที่สาม คำว่า “มาตรา” ต้องเขียนด้วยตัวเต็ม ไม่ใช้ตัวย่อ อาจารย์บางท่านมักจะค่อนข้างเข้มงวดกับเรื่องนี้ นักศึกษาอาจจะเคยชินกับการจดเลคเชอร์ในห้องเรียนหรือชินกับการเขียนสรุปเนื้อหาของวิชาที่อ่าน จึงมักจะใช้ตัวย่อจนเกิดความเคยชิน และทำให้ความเคยชินนั้นติดไปกับการเขียนตอบข้อสอบด้วย เช่น ป.วิ.พ. ม. 4 ทวิ ซึ่งเป็นเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นเพื่อตัวของนักศึกษาเอง หากจะเขียนตอบโดยอ้างหลักกฎหมายมาตรานี้ ให้เขียนคำเต็มไปเลยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ทวิ …”

     ประการที่สี่ ไม่ระบุวรรคของมาตรานั้น ในกรณีที่ไม่ได้ยกมาตราของกฎหมายนั้นมาตอบทุกวรรคของมาตรา แม้ว่าคำตอบจะถูกต้อง แต่ก็ถือว่าไม่ถูกต้องสมบูรณ์เสียทีเดียว อาจารย์ผู้ตรวจอาจหักคะแนนตรงนี้ได้ เพราะความไม่ละเอียดรอบคอบของเราเอง เช่น เขียนตอบข้อสอบว่า “เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีขาดอายุความแล้ว ศาลชั้นต้นต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185” ซึ่งมาตรา 185 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นมีหลักกฎหมายของมาตรานี้อยู่สองวรรค หากเราไม่ได้เขียนตอบวรรคของมาตรานั้นด้วย จะทำให้คำตอบของเรานั้นคลุมเครือว่าหมายถึงวรรคใด เพราะมาตรา 185 วรรคหนึ่ง และ วรรคสอง นั้น มีความหมายและมีบทบัญญัติต่างกัน ฉะนั้น ต้องตอบวรรคของมาตราไปด้วย เช่น … ตามมาตรา 185 วรรคหนึ่ง … เพื่อให้คำตอบของเราถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด

     ประการที่ห้า เขียนคำผิดหรือตกไป บางครั้งเราเขียนตอบข้อสอบโดยรีบเร่ง บางคนคิดเร็วเขียนเร็ว สมองคิดเร็วจนมือเขียนเนื้อความนั้นไม่ทัน ซึ่งทำให้เกิดคำที่ตกหล่นไปบ้าง ส่วนจะมากหรือน้อยแล้วแต่บุคคล คำแนะนำคือ เมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้ว ให้กลับมาอ่านทบทวนคำตอบอีกครั้งว่าเราเขียนคำใดผิดหรือตกไปหรือไม่ เพราะหากเราเขียนบางคำผิดหรือตกไป อาจทำให้ความหมายของประโยคนั้นเปลี่ยนไปได้ ส่งผลให้ตอบข้อสอบผิดได้ เช่น คำว่า “ไม่” เป็นต้น ฉะนั้น เราต้องเขียนตอบข้อสอบทุกข้อให้เสร็จก่อนหมดเวลาทำข้อสอบ เพื่อจะได้มีเวลามาทบทวนคำตอบที่เราตอบไปว่ามีข้อผิดพลาดตรงจุดใดหรือไม่

     ประการที่หก ใช้คำว่า “และ” กับ “หรือ” สลับกัน ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ความหมายของประโยคนั้นเปลี่ยนไป ส่งผลให้คำตอบที่เราตอบข้อสอบนั้นผิดไปเลย ฉะนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงนี้ด้วย

     ประการสุดท้าย ไม่ได้อธิบายไปตามหลักกฎหมาย แนะนำว่าเวลาเขียนตอบอธิบายหลักกฎหมาย ให้อธิบายหลักเกณฑ์หรือปรับหลักกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงไปตามลำดับดังนี้

  • หลักกฎหมาย
  • ข้อยกเว้น
  • ข้อยกเว้นของข้อยกเว้น

ข้อดีของการตอบข้อสอบไปตามลำดับนี้ คือเป็นการตอบข้อสอบโดยแสดงให้อาจารย์ผู้ตรวจเห็นว่าเราเข้าใจหลักกฎหมายในเรื่องนั้น และสามารถนำมาวินิจฉัยกับข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ อธิบายไปตามความเข้าใจของเราโดยมีหลักการ การตอบข้อสอบแบบนี้ ถึงแม้ว่าคำตอบจะผิดธงคำตอบ แต่ก็ยังมีคะแนนอยู่บ้างเพราะอาจารย์ผู้ตรวจเห็นได้ว่านักศึกษามีความเข้าใจหลักกฎหมาย แต่อาจเพียงแค่นำหลักกฎหมายนั้นมาวินิจฉัยกับข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง ดีกว่าคนที่ตอบคำตอบของข้อสอบได้ถูกต้อง แต่ไม่ได้เขียนตอบโดยอธิบายไปตามลำดับตามหลักกฎหมายให้ถูกต้อง

ดังนั้น เมื่อเราสำรวจตนเองแล้วพบว่ามีข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง ก็ขอให้นำข้อบกพร่องเหล่านั้นไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อให้การเขียนตอบข้อสอบกฎหมายในครั้งต่อไปเกิดผลดีที่สุด เพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จต่อไป

  • 23056 ครั้ง