รัฐธรรมนูญนิยมหลัง Covid-19

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

รัฐธรรมนูญนิยมหลัง Covid-19
ณัฐดนัย นาจันทร์
นิตยา จงแสง

    เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ เข้าร่วมการบรรยายในหัวข้อ “Virtual Roundtables on Asian Law: COVID-19 and Constitutionalism in Asia: Executive Power in A Time of Crisis” จัดโดย Centre for Asian Legal Studies, Faculty of Law, National University of Singapore ซึ่งเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย มาพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบที่การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 จะก่อให้เกิดขึ้นกับทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม

    หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ คือความเห็นของ Professor Jiunn-rong Yeh ศาสตราจารย์ประจำ National Taiwan University ซึ่งได้นำเสนอประเด็นความคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์และความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นกับทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยมภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ผ่านพ้นไป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่านับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียจำเป็นที่จะต้องให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารมากขึ้นเพื่อจัดการกับกับการระบาดของไวรัส
    สิ่งที่ Professor Jiunn-rong Yeh ได้นำเสนอไว้ในการบรรยาย นั่นคือเป็นไปได้หรือไม่ที่สถานการณ์ภายหลังจากการแพร่ระบาดจะทำให้การรับรู้หรือกระบวนทัศน์ (Paradigm) เกี่ยวกับแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมของสังคมเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งเป็นเหมือนแนวคิดพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันนั้น วางอยู่บนความพยายามในการที่จะจำกัดอำนาจรัฐผ่านกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจเป็นหนึ่งในแก่นกลางของแนวคิด 
    ทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจนั้นถูกสร้างขึ้นโดยหวังที่จะป้องกันไม่ให้องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐองค์กรหนึ่งองค์กรใดสามารถผูกขาดทั้งอำนาจในการตรากฎหมาย อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย และอำนาจในการตัดสินคดีไว้แต่เพียงองค์กรเดียว อำนาจทั้งหลายนั้นจะต้องถูกกระจายออกไปให้องค์กรที่แตกต่างกันใช้ และแต่ละองค์กรจะต้องตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันได้ สิ่งเหล่านี้คือกระบวนทัศน์เกี่ยวกับแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมที่เคยเป็นมาก่อนการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19
    ภายหลังจากการแพร่ระบาด หลายประเทศในเอเชียจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหาไวรัส บางครั้งมาตรการเหล่านั้นมาในรูปของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ฝ่ายบริหารในช่วงเวลาหนึ่ง หรือในบางครั้งมาตรการก็มาในรูปของการตรากฎหมายหรือกฎหมายลำดับรองขึ้นมาจำนวนมากเพื่อให้อำนาจฝ่ายบริหารในการจัดการเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเคอร์ฟิว การสั่งห้ามเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งการใช้โทษทางอาญาหรือเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังได้หากมีการฝ่าฝืนกฎหมายที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาด
    กล่าวอีกนัยหนึ่ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการขยายขอบอำนาจในการกระทำการต่าง ๆ ของฝ่ายบริหาร และยิ่งสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าการขยายอำนาจของฝ่ายบริหารนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ในการมองสัมพันธภาพระหว่างอำนาจรัฐทั้งสามฝ่าย คือเริ่มให้ความสำคัญและยอมรับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นหลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ผ่านพ้นไป
    การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นไปได้ว่าเมื่ออำนาจบริหารถูกมองว่าจำเป็นต้องมีอำนาจมากกว่าอำนาจอื่น ก็ย่อมเป็นไปได้ที่อำนาจดังกล่าวจะถูกใช้ไปในทางที่ผิด อันจะส่งผลเสียต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งอาจจะถูกละเมิดโดยอำนาจบริหารได้โดยง่ายภายใต้การกล่าวอ้างถึงความจำเป็นบางประการ (เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม) ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะเห็นด้วยกับ Professor Jiunn-rong Yeh ว่าสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ หากปล่อยให้รัฐบาลลุแก่อำนาจโดยไม่ถูกตรวจสอบในช่วงวิกฤติไวรัส Covid-19 และจะเป็นสิ่งที่คุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในอนาคต ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรทำเสียตั้งแต่ตอนนี้คือการจำกัดอำนาจของรัฐบาลให้ใช้ได้เฉพาะที่จำเป็น และผลักดันให้องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจจำต้องทำหน้าที่อย่างแข็งขันและจริงจังในห้วงเวลานี้ เป้าหมายสำคัญคือการป้องกันไม่ให้การขยายอำนาจของรัฐบาลกลายเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ และรักษากระบวนทัศน์เดิมของการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจไว้นั่นเอง

  • 2722 ครั้ง