กองทัพอวกาศสหรัฐ : มุมมองตามกฎหมายอวกาศระหว่างประเทศ

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

 

 

 

กองทัพอวกาศสหรัฐ : มุมมองตามกฎหมายอวกาศระหว่างประเทศ

สุวิจักขณ์ จันดาพันธ์

 

การสถาปนากองทัพอวกาศสหรัฐ (United States Space Force USSF) ขึ้นเป็นเหล่าทัพที่ 6 ของประเทศต่อจากกองทัพบก (Army) , เหล่านาวิกโยธิน (Marine Corps) , กองทัพเรือ (Navy) , กองทัพอากาศ (Air Force) และหน่วยยามชายฝั่ง (Coast Guard) เป็นผลมาจากกฎหมาย The National Defense Authorization Act (NDAA) for FY 2020 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2019 โดยเหล่าทัพใหม่ที่มีการก่อตั้งขึ้นนี้มีพันธกิจหลักในการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในห้วงอวกาศที่ดำเนินกิจกรรมอวกาศในทางสันติ ขัดขวางการรุกราน และปฏิบัติการทางอวกาศในรูปแบบ    ต่าง ๆ[1] โดยในปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีดาวเทียมที่ปฏิบัติการอยู่ในอวกาศภายนอก (Outer Space) จำนวน  1,327 ดวง แบ่งเป็นดาวเทียมที่ใช้ทางการทหาร 192 ดวง, ใช้ในทางพลเรือน 30 ดวง, ใช้ในเชิงพาณิชย์ 935 ดวง, ใช้ในราชการทั่วไป 170 ดวง ซึ่งจำนวนดาวเทียมดังกล่าวนี้ ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในโลกเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนดาวเทียมทั้งหมดทั่วโลกที่ยังปฏิบัติการอยู่ในอวกาศจำนวน 2,666 ดวง[2]

 

แนวคิดในการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของชาติในห้วงอวกาศนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะก่อนการเกิดขึ้นของกองทัพอวกาศดังกล่าว สหรัฐอมริกามีหน่วยงานที่ชื่อว่า The Air Force Space Command ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กองทัพอากาศสหรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเทคโนโลยีทางการทหารของสหรัฐในห้วงอวกาศ อาทิ ยานอวกาศ, ดาวเทียม, จรวด, ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System : GPS), โปรแกรมป้องกันดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (The Defense Meteorological Satellite Program) เป็นต้น[3] แต่เนื่องจาก The Air Force Space Command เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กองทัพอากาศ ส่งผลให้ไม่มีความเป็นอิสระและไม่มีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินงานด้านการทหารที่เกี่ยวข้องกับห้วงอวกาศ อีกทั้งงบประมาณส่วนใหญ่ที่จัดสรรให้กับกองทัพอวกาศก็ต้องจัดสรรให้กับการป้องกันประเทศทางด้านอากาศ (Airspace) เป็นหลักก่อน เหล่านี้ถือเป็นข้อจำกัดของ The Air Force Space Command[4]

 

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทและผลประโยชน์ทางธุรกิจของภาคเอกชนของสหรัฐในกิจกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น บริษัท spaceX มีแผนการส่งกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็ก (Small Satellite Constellation) จำนวนกว่า 4,2000 ดวง เพื่อให้บริการอินเตอร์ความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งแผนการดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (The Federal Communications Commission : FCC) เรียบร้อยแล้ว[5] ประกอบกับทั้งภัยคุกคามของการทดสอบระบบต่อต้านดาวเทียม (Anti-Satellite : ASAT) จากจีนและรัสเซีย[6] โดยก่อให้เกิดปริมาณขยะอวกาศ ( Space Debris) เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งขยะอวกาศเหล่านี้จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อดาวเทียมที่กำลังปฏิบัติการอยู่ได้ตลอดเวลา ดังนั้น ในปี 2018 ประธานาธิบดี Donald Trump ได้มีแนวคิดที่จัดตั้งกองทัพอวกาศโดยให้มีอำนาจทางการทหาร และงบประมาณเต็มรูปแบบขึ้น โดยได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม (Department of Defense) ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส (The United State Congress) ในการผ่านร่างกฎหมายในที่สุด[7]

 

การเกิดขึ้นของกองทัพอวกาศสหรัฐนี้ หากมองในมิติของกฎหมายอวกาศระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967 (Treaty on Principles Governing the Activities of States in the Exploration and Use of Outer Space, including the Moon and Other Celestial Bodies : Outer Space Treaty)[8]แล้ว ถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมากในประเด็นที่ว่าการก่อตั้งกองทัพดังกล่าวมีความสอดคล้อง หรือท้าทายต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างไร โดยสามารถแยกประเด็นพิจารณาได้ ดังนี้

 

1. แนวความคิดในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติโดยใช้อำนาจทางทหารในห้วงอวกาศชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ในประเด็นนี้ หลักกฎหมายตามสนธิสัญญาอวกาศวางหลักไว้ว่า “รัฐภาคีสนธิสัญญานี้จะดำเนินกิจการในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างประเทศ” [9] กล่าวคือ การดำเนินกิจการในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าต่าง ๆ   รัฐภาคี นอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในสนธิสัญญาอวกาศฉบับนี้แล้ว ยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทั่วไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ (General International law) รวมถึงกฎบัตรแห่งสหประชาชาติด้วย ซึ่งโดยหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาตินั้น การใช้กำลัง (Use of force) ในทางระหว่างประเทศเป็นสิ่งต้องห้าม[10] แต่อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้นอย่างชัดเจนที่ให้อำนาจรัฐสามารถใช้กำลังกรณีป้องกันตนเอง (Self-defense) ได้ หากเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด[11] ดังนั้น การจัดตั้งกองทัพอวกาศของสหรัฐที่มีวัตถุประสงค์ในทางสันติ และเพื่อเป็นการป้องกันผลประโยชน์ของชาติกรณีมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังป้องกันย่อมเป็นสิทธิตามกฎหมายที่สามารถทำได้ ไม่ถือว่าเข้าข่ายต้องห้ามแต่อย่างใด

 

2. หากมีการจัดตั้งฐานทัพในห้วงอวกาศเกิดขึ้น ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

            ในประเด็นนี้หลักกฎหมายตามสนธิสัญญาอวกาศ ข้อ 4 วรรคสอง วางหลักไว้ว่า “รัฐทั้งปวงที่เป็นภาคีแห่งสนธิสัญญานี้จะทำการใช้ดวงจันทร์ และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ เพื่อความมุ่งประสงค์ทางสันติโดยเฉพาะ ห้ามมิให้มีการจัดตั้งฐานทัพ สิ่งติดตั้ง และป้อมปราการทางทหาร การทดลองอาวุธประเภทใด ๆ ตลอดทั้งการดำเนินการซ้อมรบบนเทหะในท้องฟ้า แต่การใช้เจ้าหน้าที่ทางทหารเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อความมุ่งประสงค์ทางสันติอื่นใดย่อมกระทำได้ การใช้บริภัณฑ์ใด ๆ หรือความสะดวกที่จำเป็นเพื่อการสำรวจดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ในทางสันติย่อมกระทำได้เช่นกัน” [12]

เมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าสนธิสัญญาอวกาศห้ามอย่างชัดเจนในการจัดตั้งฐานทัพ (military bases) หรือป้อมปราการทางทหาร (fortifications) ตลอดทั้งการดำเนินการซ้อมรบและทดลองอาวุธต่าง ๆ ในเทหะในท้องฟ้า (Celestial bodies) ต่าง ๆ ของห้วงอวกาศ (Outer space)" โดยอนุญาตให้เฉพาะการใช้เจ้าหน้าที่ทางทหารเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือเพื่อความมุ่งประสงค์ทางสันติ (peaceful purposes) เท่านั้น ดังนี้ ย่อมเป็นที่น่าสนใจว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามและให้สัตยาบันในสนธิสัญญาอวกาศ ปี 1967 จะมีแนวทางในการบริหารจัดการกองทัพอวกาศของตนที่ก่อตั้งขึ้นอย่างไร

 

รายการอ้างอิง

 

Charlotte Kiang, What Exactly Is The Space Force?, [May 21, 2020] online available from :www.forbes.com/sites/charlottekiang/2020/01/27/what-is-the-space-force-really/#4700b1e54649

MAJ WIllIAM S. MOnCrIEF, Building a United States Space Force, Army Space Jounal (2010 Winter/Spring Edition), [May 21, 2020] online available from : apps.dtic.mil/dtic/tr/fulltext/u2/a525363.pdf

Morgan McFall-Johnsen, SpaceX's license to launch hundreds of internet satellites may have violated the law, experts say. Astronomers could sue the FCC, [May 21, 2020] online available from : www.businessinsider.com/spacex-starlink-satellite-license-fcc-environmental-law-2020-1

Timiebi Aganaba-Jeanty, THE SPACE FORCE: FROM RHETORIC & RIDICULE TO REALITY, [May 21, 2020] online available from : https://sese.asu.edu/sites/default/files/space_force_presentation_final_reduced.pdf

U.S. Department of defense, Final Report on Organizational and Management Structure for the National Security Space Components of the Department, [May 21, 2020] online available from : media.defense.gov/2018/Aug/09/2001952764/-1/-1/1/ORGANIZATIONAL-MANAGEMENT-STRUCTURE-DOD-NATIONAL-SECURITY-SPACE-COMPONENTS.PDF

Union of Concerned Scientists, UCS Satellite Database, [May 21, 2020] online available from : www.ucsusa.org/resources/satellite-database

 

Treaties:

  1. Treaty on Principles Governing the Activities of States in the Exploration and Use of Outer Space, including the Moon and Other Celestial Bodies (The 1967 Outer Space Treaty)
  2. Charter of the United Nations

 

 

 

 

 

 


[1] Timiebi Aganaba-Jeanty, THE SPACE FORCE: FROM RHETORIC & RIDICULE TO REALITY, [May 21, 2020] online available from : sese.asu.edu/sites/default/files/space_force_presentation_final_reduced.pdf

[2] Union of Concerned Scientists, UCS Satellite Database, [May 21, 2020] online available from : https://www.ucsusa.org/resources/satellite-database#.XAC1pxNKjBI

[3] Charlotte Kiang, What Exactly Is The Space Force?, [May 21, 2020] online available from : www.forbes.com/sites/charlottekiang/2020/01/27/what-is-the-space-force-really/#4700b1e54649

[4] MAJ WIllIAM S. MOnCrIEF, Building a United States Space Force, Army Space Jounal (2010 Winter/Spring Edition), [May 21, 2020] online available from : apps.dtic.mil/dtic/tr/fulltext/u2/a525363.pdf

[5] Morgan McFall-Johnsen, SpaceX's license to launch hundreds of internet satellites may have violated the law, experts say. Astronomers could sue the FCC[May 21, 2020] online available from : www.businessinsider.com/spacex-starlink-satellite-license-fcc-environmental-law-2020-1

[6] U.S. Department of defense, Final Report on Organizational and Management Structure for the National Security Space Components of the Department, [May 21, 2020] online available from : https://media.defense.gov/2018/Aug/09/2001952764/-1/-1/1/ORGANIZATIONAL-MANAGEMENT-STRUCTURE-DOD-NATIONAL-SECURITY-SPACE-COMPONENTS.PDF

[7] MAJ WIllIAM S. MOnCrIEF, Building a United States Space Force, Army Space Jounal (2010 Winter/Spring Edition), [May 21, 2020] online available from : apps.dtic.mil/dtic/tr/fulltext/u2/a525363.pdf

[8] ต่อไปนี้จะเรียกว่า “สนธิสัญญาอวกาศ”

[9] Article III “States Parties to the Treaty shall carry on activities in the exploration and use of outer space, including the Moon and other celestial bodies, in accordance with international law, including the Charter of the United Nations, in the interest of maintaining international peace and security and promoting international cooperation and understanding.” 

[10] โปรดดูเพิ่มติม UN Charter Article 2(2).

[11] โปรดดูเพิ่มติม UN Charter Article 51.

[12] Article IV paragraph 2 “The Moon and other celestial bodies shall be used by all States Parties to the Treaty exclusively for peaceful purposes. The establishment of military bases, installations and fortifications, the testing of any type of weapons and the conduct of military manoeuvres on celestial bodies shall be forbidden. The use of military personnel for scientific research or for any other peaceful purposes shall not be prohibited. The use of any equipment or facility necessary for peaceful exploration of the Moon and other celestial bodies shall also not be prohibited.” 

 

  • 2811 ครั้ง