การกำหนดตนเอง กับความขัดแย้งทางศีลธรรม
โดย ณัฐดนัย นาจันทร์
ผู้เขียนหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา เนื่องจากในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อถกเถียงว่าด้วยการทำแท้งและการค้าประเวณีในชั้นเรียนสัมมนากฎหมายมหาชนซึ่งผู้เขียนเป็นผู้สอนและเข้าร่วมรับฟังความเห็นของนักศึกษา โดยในเบื้องต้นนั้น ผู้เขียนขออธิบายก่อนว่า สิทธิในการกำหนดตนเอง (Right to Self Determination) เป็นหนึ่งในสิทธิขึ้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด เชิดชูความสามารถในการใช้เหตุผล และเชื่อมั่นในคุณค่าของมนุษย์ ในฐานะตัวตนที่สามารถเลือกกำหนดความเป็นไปในชีวิตของตัวเองได้อย่างเสรี
พูดง่าย ๆ การกำหนดตนเอง คือการที่เราในฐานะมนุษย์จะเลือกหรือไม่เลือกทำอะไรบางอย่างได้โดยความต้องการของตนเอง เราสามารถก้าวออกไปและบอกกับทุกคนได้ว่า ตัวตนของเราคือสิ่งใด เราต้องการจะเป็นคนเช่นไร และต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างอย่างไร
สิทธิในการกำหนดตนเองนี้ดูเผิน ๆ ก็แทบจะไม่ต่างกับคำว่า “เสรีภาพ” เท่าใดนัก แต่ความแตกต่างที่น่าสนใจประการหนึ่งนั่นคือ เสรีภาพเป็นคำที่สื่อถึงการกระทำใด ๆ โดยเสรีของมนุษย์ กล่าวในมุมของผู้ถือครองเสรีภาพที่ประสงค์จะทำการใด ๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว กลับกัน สิทธิในการกำหนดตนเองนั้นกลับมีน้ำหนักในฐานะข้อห้ามหรือข้อกีดกันบุคคลภายนอกมากกว่าว่า “อย่าเข้ามายุ่งกับชีวิตและตัวตนของฉัน ฉันก็คือฉันและไม่มีใครจะสามารถกำหนดให้ฉันกลายเป็นอื่นได้ถ้าฉันไม่ต้องการ”
ถ้อยทำนองที่สิทธิในการกำหนดตนเองสื่อออกมาดูจะเอาแต่ใจและดื้อรั้น แต่โดยภาพรวมแล้วนั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นตัวตนของสิทธินี้ได้ดีที่สุดหากพิจารณาจากมุมมองของปัจเจกบุคคล และแน่นอนว่าความดื้อรั้นเช่นนี้นำไปสู่ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเราเอาสิทธิในการกำหนดตนเองมาวางคู่กับการเลือกใช้เนื้อตัวร่างกายของเราเอง เช่น การเลือกที่จะค้าบริการทางเพศ การเลือกที่จะทำแท้ง หรือการเลือกที่จะตาย สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีใครสักคนอ้างสิทธิในการกำหนดตนเองเพื่อกระทำการเหล่านี้ นั่นคือการเผชิญหน้าระหว่างตัวตนของมนุษย์กับการขัดแย้งทางศีลธรรมหรือคุณงามความดีบางประการของสังคม เพราะการกระทำทั้งหลายที่ยกมา ทั้งการทำแท้ง การค้าบริการ หรือการตาย เป็นการทำลาย “กฎระเบียบ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี” ของสังคมลงอย่างสิ้นเชิง (ในมุมมองของผู้ที่ยึดถือคุณค่าเช่นนั้น)
คำถามประการสำคัญ นั่นคือโดยเนื้อแท้แล้ว การใช้สิทธิในการกำหนดตนเองภายใต้ขอบเขตร่างกายของตนนั้นจะถือว่าเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือไม่ ในทัศนะของผู้เขียนคงตอบได้แต่เพียงว่า “ไม่” เพราะคุณค่าของสังคมหรือแม้กระทั่งคำถามเชิงศีลธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดสามารถกำหนดได้อย่างตายตัวว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับทุกคนในสังคม ไม่มีใครมีความสามารถมากพอที่จะทำเช่นนั้น และในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครสมควรกล่าวอ้างความเชื่อของตนว่าดีและสูงส่งกว่าของผู้อื่น
ในสายตาของกฎหมาย บุคคลทุกคนย่อมมีคุณค่าและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน เรื่องของปัญหาการขัดหรือแย้งทางศีลธรรมแท้จริงแล้วคือการต่อสู้เพื่อหวังจะเอาชนะกันระหว่างคุณค่าของคนสองกลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่าทางออกที่ดีที่สุด คือหาจุดกึ่งกลาง โดยแสวงหาความพอดีระหว่างคุณค่าของบุคคลในแต่ละคนในสังคม ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนสำหรับผู้เขียนในประเด็นนี้ คือการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการทำแท้งในประเทศฝรั่งเศส ที่วางขั้นตอนในการทำแท้งของบุคคลอย่างเป็นระบบ คำนึงถึงการให้คำปรึกษา สิทธิของเด็กในครรภ์ สิทธิของผู้ตั้งครรภ์ และความสงบของสังคมไปโดยพร้อมเพรียงกัน