คำแนะนำในการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย ตอนที่สอง

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

คำแนะนำในการเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย ตอนที่สอง

โดย อาจารย์รัฐวุฒิ แสงจันทร์

ในการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายนั้น นอกจากความถูกต้องและสมบูรณ์ของคำตอบแล้ว บางครั้งนักศึกษาอาจมีจุดบกพร่องบางอย่างที่สามารถถูกหักคะแนนออกไปบ้าง แม้ถูกหักคะแนนเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าน่าเสียดายอย่างยิ่งที่จะเสียคะแนนนั้นไป ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอรวบรวมเคล็ดลับและคำแนะนำในการเขียนตอบข้อสอบวิชากฎหมายเพื่อให้ได้คะแนนดีที่สุดเป็นรายข้อดังต่อไปนี้

  1. ไม่ควรใช้ตัวย่อ นักศึกษาหลายคนเขียนตัวย่อในการเขียนตอบข้อสอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ อาจารย์หลายท่านมักจะหักคะแนนจากตรงนี้ ยกเว้นแต่ตัวย่อที่สามารถใช้เขียนในการตอบข้อสอบได้ เช่น พ.ศ. , พ.ร.บ. เป็นต้น
  2. ใส่ชื่อกฎหมายไว้ด้วยเสมอในคำตอบทุกข้อ นักศึกษาหลายคนมักลืมใส่ชื่อของกฎหมาย ซึ่งตรงนี้แสดงถึงความไม่ละเอียดรอบคอบ แม้ว่าอาจารย์ผู้ตรวจจะทราบอยู่แล้วว่าเราหมายถึงกฎหมายใด แต่เวลาตอบข้อสอบทุกข้อ ต้องตอบด้วยชื่อกฎหมายและตามด้วยเลขมาตราเสมอ แต่ก็อาจทำให้เกิดความล่าช้าและสิ้นเปลืองเวลาในการเขียนตอบข้อสอบ จึงขอแนะนำว่าให้อ้างชื่อกฎหมายเพียงมาตราแรกที่ยกมาใช้ในการตอบข้อสอบก็เพียงพอ เช่น “……. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 …….. ตามมาตรา 288 ……….. ตามมาตรา 334” เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้อสอบบางรายวิชาอาจมีอาจารย์ผู้ตรวจมากกว่า 1 ท่านในข้อสอบของเรา การที่เราฝึกเขียนตอบโดยใส่ชื่อกฎหมายไว้ทุกข้อ จะทำให้เราไม่เกิดข้อผิดพลาดนี้ไปในตัวด้วย เป็นผลดีกับตนเอง

  1. ใช้วรรคของกฎหมายเท่าที่จำเป็น ถ้ามาตราของกฎหมายที่เราจะยกมาตอบนั้นมีหลายวรรค แต่ข้อสอบถามเพียงบางวรรคของมาตรานั้น ก็ให้วางหลักกฎหมายเพียงวรรคที่เป็นคำตอบก็เพียงพอ เช่น

“ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง …………………………………..

วรรคสอง……………………………………………………………………………………………………………………

วรรคสาม……………………………………………………………………………………………………………………”

หากเราเขียนตอบเฉพาะเลขมาตรา โดยไม่ใส่วรรคด้วย ผู้ที่ไม่เรียนกฎหมายจะเข้าใจผิดไปว่ามาตรานั้นมีเพียงวรรคเดียว การเขียนวรรคของมาตราด้วย จะทำให้อาจารย์ผู้ตรวจเห็นว่าเรามีความละเอียดรอบคอบในการเขียนตอบและสามารถจับประเด็นของข้อสอบได้ รู้ว่ามาตรานั้นมีหลายวรรค แต่วรรคที่ยกมาตอบนั้นคือเป็นประเด็นของข้อสอบที่ต้องการให้เราตอบคำถาม

อย่างไรก็ดี หากเรามีเวลาเหลือมากพอในการเขียนตอบข้อสอบ ก็สามารถวางหลักของมาตรานั้นให้ครบทุกวรรคได้ เป็นการแสดงให้อาจารย์ผู้ตรวจเห็นว่าเราสามารถท่องจำตัวบทกฎหมายมาตรานั้นได้ทั้งมาตรา แต่ในส่วนของการวินิจฉัยก็ยกมาเพียงวรรคที่เป็นประเด็นของคำถามก็เพียงพอ เพื่อให้คำตอบของเรากระชับ ถูกต้อง และสมบูรณ์ที่สุด

  1. จำไว้เสมอว่า “ประเด็นใหม่ ให้ขึ้นย่อหน้าใหม่” ส่งผลให้อาจารย์ตรวจข้อสอบได้ง่ายขึ้น หาประเด็นที่จะให้คะแนนได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการแสดงให้อาจารย์ผู้ตรวจเห็นว่าเราสามารถจับประเด็นของข้อสอบได้ รู้ว่าข้อเท็จจริงใดเป็นประเด็นของคำถาม และเมื่อเขียนตอบข้อสอบทุกข้อเสร็จแล้ว การกลับมาอ่านทวนคำตอบอีกครั้งก่อนส่งสมุดคำตอบจะทบทวนได้ง่ายขึ้น เราจะพบได้อย่างชัดเจนว่าเราลืมตอบประเด็นใดไปบ้างหรือไม่
  2. อย่าใช้คำว่า “ดังนั้น” จนสิ้นเปลืองเกินไป ให้ใช้คำว่า “ดังนั้น” หรือ “ฉะนั้น” เพียงแค่ตอนสุดท้ายของการวินิจฉัยในประเด็นนั้นหรือข้อนั้นว่าเราจะตอบคำถามว่าอะไร สรุปแล้วเป็นอย่างไร
  3. แบ่งพื้นที่ของหน้ากระดาษในแต่ละส่วนไว้เพื่อเพิ่มเติมข้อความ การตอบข้อสอบกฎหมายแบบ 3 ส่วน (วางหลักกฎหมาย-วินิจฉัยข้อเท็จจริง-สรุปคำตอบ) ควรเว้นพื้นที่ของแต่ละส่วนไว้ด้วย เพื่อให้สามารถเพิ่มเติมหรือแทรกข้อความได้ หากว่าภายหลังการทำข้อสอบเสร็จแล้วเรากลับมาทบทวนคำตอบ แล้วต้องการเพิ่มข้อความหรือประเด็นใดเข้าไป นอกจากนี้ หากเราต้องการแก้ไขคำตอบใหม่ ก็อาจขีดฆ่าประโยคหรือย่อหน้าเดิมที่ไม่ต้องการ แล้วเขียนเนื้อความใหม่ลงไปในที่ว่างนั้นได้ ทำให้ประหยัดเวลาในการทำข้อสอบมากขึ้น และไม่สับสนในการทำข้อสอบที่มีจำนวนหลายข้อ
  4. ทำข้อสอบข้อใหม่ ให้ขึ้นหน้าใหม่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือผิดพลาดในการตรวจข้อสอบว่าเป็นคำตอบของข้อใด เพราะต้องระลึกไว้ว่าอาจารย์ท่านหนึ่งไม่ได้ตรวจข้อสอบของเราเพียงคนเดียว นอกจากนี้ หากเราต้องการเขียนตอบวินิจฉัยเพิ่มเติม ก็สามารถแทรกเนื้อความเพิ่มเข้าไปตรงหน้านั้นที่ยังมีพื้นที่ว่างอยู่ได้ ทำให้ง่ายต่อการตรวจข้อสอบมากขึ้น ไม่ต้องโยงไปหน้าอื่นที่ไม่ต่อเนื่องกัน
  5. ถ้าจะตอบข้อสอบ 2 ข้อโดยใช้มาตราซ้ำกัน ให้วางหลักกฎหมายเพียงข้อแรกที่เราเขียนตอบข้อสอบไปก็เพียงพอ (ไม่ได้หมายถึงข้อ 1 ที่เป็นเลขข้อ แต่หมายถึงข้อแรกที่เขียนตอบข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็นคำถามข้อที่เท่าไร) ส่วนข้อต่อไปที่เราเขียนตอบนั้นให้นำหลักกฎหมายที่ได้วางไว้แล้วมาวินิจฉัยได้ทันที
  6. ใช้คำในตัวบทกฎหมายมาประกอบการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในข้อสอบเสมอ สังเกตว่าทั้งในข้อสอบไม่ว่าสนามใดและในคำพิพากษาศาลฎีกา จะใช้คำหรือประโยคที่ปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมายมาประกอบการวินิจฉัยปัญหาหรือประกอบคำตอบของข้อสอบเสมอ นอกจากนี้ หากเราไม่นำคำในตัวบทกฎหมายมาเขียนตอบข้อสอบ เราจะท่องตัวบทกฎหมายไปทำไม จริงหรือไม่
  7. หากต้องการแก้ไขหรือลบคำผิด ถ้าเราเขียนคำผิดไป แล้วต้องการจะลบหรือแก้ไข การใช้ปากกาลบคำผิดที่เป็นหมึกเหลว จะทำให้เสียเวลาไปบ้าง และอาจลืมกลับมาเขียนคำหรือประโยคใหม่ที่เราต้องการไป แนะนำว่า
    • หากลบเพียงแค่ตัวอักษร สระ หรือวรรณยุกต์ ให้ใช้ปากกาลบคำผิดได้ แต่อย่าลืมกลับมาเขียนตัวอักษร สระ หรือวรรณยุกต์ที่ต้องการลงไปด้วย
    • หากลบทั้งคำหรือประโยค ให้ใช้ปากกาสีเดียวกับที่เขียนตอบข้อสอบนั้นขีดเส้นทับข้อความในแนวนอนตรงกึ่งกลางคำหรือประโยคที่ต้องการลบออก จะทำให้เราเขียนตอบได้เร็วยิ่งขึ้น ประหยัดเวลาไปได้พอสมควร ไม่ต้องมานั่งลบข้อความที่เราไม่ต้องการออก
  8. ตอบคำถามให้ครบทุกข้อและครบประเด็นของคำถาม ประการนี้สำคัญ การให้คะแนนในการเขียนตอบข้อสอบ อาจารย์ผู้ตรวจจะให้ตามประเด็นของคำถามในแต่ละข้อ นอกจากจะต้องตอบคำถามให้ถูกต้องแล้วยังต้องตอบให้ครบประเด็นของคำถามที่ถามมาด้วย หากเราไม่ได้ตอบในประเด็นใด คะแนนในส่วนของประเด็นนั้นจะหายไปทันที นักศึกษาอ่านคำถามในข้อสอบแล้วต้องหาให้พบว่าคำถามนั้นถามประเด็นอะไร ต้องการให้ตอบประเด็นใด ส่วนจะตอบว่าอย่างไรเป็นเรื่องความรู้ที่นักศึกษาต้องนำความรู้ที่ได้ศึกษามานั้นมาวินิจฉัยในข้อเท็จจริงในคำถาม แต่หากวินิจฉัยเกินประเด็นของคำถามนั้นไม่เสียหายแต่อย่างใด อาจารย์ผู้ตรวจอาจมีคะแนนพิเศษให้ แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ข้อเสียคือจะทำให้เสียเวลาในการตอบข้อสอบข้ออื่น ๆ เสียมากกว่า
  9. สรุปคำตอบให้ตรงกับคำถามและไม่ยาวจนเกินไป จะทำให้ได้คะแนนดี และสรุปการวินิจฉัยปัญหาได้อย่างกระชับและถูกต้อง ซึ่งไม่จำต้องยกเหตุผลมาอธิบายในส่วนของการสรุปคำตอบอีก เนื่องจากเราได้อธิบายไว้ในส่วนที่สองอันเป็นการปรับหลักกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงแล้ว

คำถามในข้อสอบนั้นมักจะลงท้ายด้วยประโยคที่ว่า “ให้วินิจฉัยว่า…..” หรือ “ดังนี้…..” เช่น

  • ให้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
  • ให้วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่
  • ให้วินิจฉัยว่าจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

วิธีตอบในส่วนของการสรุปคำตอบ เช่น

  • ดังนั้น ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำฟังไม่ขึ้น แต่ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าเป็นการฟ้องซ้อนฟังขึ้น ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น
  • ดังนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • สรุป จำเลยไม่สามารถอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

  1. ควรทำข้อสอบให้เสร็จทุกข้อก่อนหมดเวลาอย่างน้อย 5-10 นาที เพื่อที่จะได้มีเวลาในการทบทวนและตรวจดูสมุดคำตอบว่าเราตอบครบทุกข้อ ทุกประเด็นหรือไม่ เขียนคำหรือประโยคตกหล่นไปหรือไม่ หากผิดพลาดตรงส่วนใดไป จะได้มีเวลาแก้ไขทัน ทำให้คำตอบสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีกับตนเองที่มีเวลาเหลือในการตรวจดูสมุดคำตอบก่อนจะส่ง ยังทำให้เราฝึกตนเองให้เป็นคนทำข้อสอบได้เร็วขึ้นอีกด้วย (ข้อสอบสนามอื่น เช่น เนติบัณฑิต, อัยการผู้ช่วย, ผู้ช่วยผู้พิพากษา มีเวลาให้ทำข้อสอบน้อยกว่าปริญญาตรีอีกมาก)
  2. หากรู้ตนเองว่าเขียนลายมือไม่สวยหรือเขียนหวัด แนะนำว่าพยายามเขียนตัวอักษรให้ใหญ่เข้าไว้ และเขียนทุกตัวอักษรให้มีหัวเสมอ ยกเว้น ก และ ธ จะทำให้อาจารย์ผู้ตรวจอ่านคำตอบของเราได้ง่ายขึ้น
  3. พกน้ำดื่มเข้าไปในห้องสอบด้วย ควรดื่มน้ำหรือจิบน้ำทุก 45-60 นาที จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายได้ น้ำจะไปกระตุ้นการทำงานของร่างกาย ทำให้เรารู้สึกสดชื่นยิ่งขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำเย็น เพราะจะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะเร็วขึ้น และสมองจะทำงานช้าลง

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอให้นักศึกษาหมั่นฝึกเขียนตอบข้อสอบกฎหมายให้เคยชินอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้การสอบในแต่ละวิชาแต่ละครั้งเกิดผลลัพธ์ออกมาอย่างดีที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในชีวิตของตนเองได้อย่างแน่นอน

  • 47713 ครั้ง