เสือดำตายแล้ว แต่กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ตายด้วย

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

เสือดำตายแล้ว แต่กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ตายด้วย

โดย นายปกรณ์ สันป่าแก้ว
ผู้ช่วยสอน สำนักวิชานิติศาสตร์

 

         เมื่อหลายวันที่ผ่านมา มีกระแสสังคมเกี่ยวกับกรณีที่มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งต่อมาภายหลังถูกจับกุมและพบของกลางเป็นซากสัตว์ป่าจำนวนมากถูกชำแหละเนื้อหนัง พร้อมทั้งอาวุธปืนที่คาดว่านำมาเพื่อใช้ในการล่าสัตว์ครั้งนี้ด้วย และเรื่องที่ถือว่าเป็นที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง คือพบว่าซากสัตว์ดังกล่าวเป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือซากของเสือดำ ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบได้ยากเนื่องจากจำนวนที่มีน้อยและเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์

          ภายหลังจากการจับกุมกลุ่มคนร้ายที่ลักลอบเข้าไปล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ได้มีการตั้งข้อหารวม 9 ข้อหา และในวันนี้ (21 มกราคม 2561) มีการตั้งข้อหาเพิ่มอีก 4 ข้อหา รวมเป็น 13 ข้อหา โดยหนึ่งในข้อหาที่เดิมที่เคยถูกตั้งไว้อีกหนึ่งข้อหา แต่ต่อมาภายหลังกลับถูกถอนข้อหาดังกล่าวออกไป ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่ความสนใจเป็นอย่างมากในสังคมคือข้อหา “กระทำทารุณกรรมต่อสัตว์” ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ออกไป โดยมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยออกมาแสดงความคิดเห็นกันทั้งที่ถูกต้องบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง หรือบางความเห็นก็ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น

          ซึ่งหากมองถึงข้อกฎหมายและเหตุผลของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 นั้น หากพิจารณาอย่างผิวเผินก็คงตีความไปได้ว่า การยิงเสือดำตายนั้นเป็นการทารุณกรรมสัตว์และอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เพราะในมาตรา 3 ที่เป็นมาตราที่ได้ให้คำนิยามคำว่า “สัตว์” ไว้อย่างชัดเจน ว่า “…และให้รวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ…” จึงไม่แปลกใจที่จะเข้าใจได้ว่า เสือดำเป็น “สัตว์” ตามพระราชบัญญัตินี้และได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย แต่อย่างไรก็ดี ในการใช้มาตราดังกล่าวมาพิจารณาต้องพิจารณาถึงสองเรื่อง คือ 1. การทารุณกรรม คืออะไร และ 2. สัตว์ ในที่นี้หมายถึงอะไร

          ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว การทารุณกรรม คือ การทำให้สัตว์เจ็บปวดทางกาย หรือ ใจ หรือทำให้เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือตาย ดังนั้น การทำให้ตายจึงถือเป็นการทารุณกรรมอย่างหนึ่ง  สัตว์ หมายความถึง สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน เป็นอาหาร เป็นพาหนะ หรือเลี้ยงไว้ใช้งานอื่น ๆ ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ และเมื่อพิจารณาสิ่งที่เรียกว่า “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” เข้าไปด้วย จะพบได้ว่า เสือดำไม่ได้จัดอยู่ใน “สัตว์” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว สังเกตุได้จากหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติซึ่งมีใจความว่า “…เจ้าของสัตว์ซึ่งนําสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนําสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง…” ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองแก่สัตว์จำพวก “สัตว์เลี้ยง” เสียมากกว่า ซึ่งโดยธรรมชาติของเสือดำนั้น เสือดำมักจัดอยู่ในสัตว์จำพวก “สัตว์ป่า” ซึ่งเป็นสัตว์คนละจำพวกกัน ดังนั้นการฆ่าเสือดำจึงอาจเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับอื่นเสียมากกว่า

          คำถามต่อมาก็คือ หากพระราชบัญญัติดังกล่าวคุ้มครองสัตว์จำพวกสัตว์เลี้ยงแล้ว เสือดำซึ่งเป็นสัตว์ป่าจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายฉบับไหน ? ซึ่งคำตอบก็มีปรากฏอยู่แล้วในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งมีการประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองอยู่เป็นระยะ ๆ กล่าวถึงเสือดำก็เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง กำหนดสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว (บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง)

          ตามกฎกระทรวงดังกล่าวนี้เอง ก็มีบางคนเข้าใจผิดว่า เสือดำ เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยมีการอ้างอิงว่าเป็น “…สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ…” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีการอ้างถึงกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยว่า เสือดำ ถูกจัดว่าเป้นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งแท้จริงแล้ว กฎกระทรวงดังกล่าวถูกประกาศใช้โดยใช้อำนาจของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และข้อสังเกตที่สังเกตได้ง่ายก็คือ ปีที่ประกาศใช้ ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวประกาศใช้ปี พ.ศ. 2546 แต่พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์นั้น ถูกประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2557 จึงเป็นไปไม่ได้ที่กฎกระทรวงซึ่งมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ จะถูกประกาศใช้ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะโดยธรรมชาติของกฎหมายนั้น กฎหมายที่ลำดับศักดิ์ต่ำกว่า มักถูกบัญญัติขึ้นโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า ดังเช่น กฎกระทรวง กำหนดสัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ในการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา

          ดังนั้น ในกรณีของเสือดำนี้ จึงเป็นกรณีที่เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งในการแจ้งข้อหาแก่กลุ่มผู้ลักลอบเข้าล่าสัตว์ป่าในเขตหวงห้ามนั้น คงต้องแจ้งในข้อหาตามกฎหมายที่มีความผิดที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่อย่างไรก็ดี คดีนี้เป็นคดีที่เป็นที่จับตามองของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง การใช้และการตีความกฎหมายนั้น ต้องกระทำไปอย่างเที่ยงตรง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น มิเช่นนั้นการตายของเสือดำตัวนี้ คงไม่ใช่ตัวสุดท้ายของผืนป่าไทยอย่างแน่นอน

  • 711 ครั้ง