อำนาจศาลคืออะไร ทำไมต้องห้ามละเมิด ?

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

อำนาจศาลคืออะไร ทำไมต้องห้ามละเมิด ?

โดย ณัฐดนัย นาจันทร์
อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

     กว่าสิบวันที่ผ่านมา หลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ประกาศใช้บังคับ กระแสที่ตามมาอย่างหนึ่งคือบทวิพากย์วิจารย์กฎหมายใหม่ในส่วนของการละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 38 โดนเฉพาะในส่วนที่กำหนดในวรรคท้าย ห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคำหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย หากฝ่าฝืนก็มีโทษร้ายแรงถึงขั้นจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     งานเขียนเรื่องการละเมิดอำนาจศาลนั้นมีอยู่จำนวนมาก งานที่น่าสนใจคือวิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2554 เรื่อง “ขอบเขตการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล” โดย น.ส.วรรณวิสาข์ สุทธิวารี ซึ่งหากพูดโดยสรุปแล้ว คือการอธิบายว่า แท้จริงแล้วบทบัญญัติเรื่องการละเมิดอำนาจศาลมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกระทำที่จะทำให้การอำนวยความยุติธรรมโดยศาลต่าง ๆ เกิดความล่าช้า เช่นการไปก่อให้เกิดความวุ่นวายในศาล การไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา หรือการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ แน่นอนว่าหลักการนี้แทบจะเป็นหลักการสากลที่ใช้ในการกำหนดขอบเขตเรื่องละเมิดอำนาจศาล ดังนั้นหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อำนาจศาลที่จะถูกปกป้องจากการละเมิดคืออำนาจในการวินิจฉัยคดีและอำนาจในการอำนวยความยุติธรรม เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายสูงสุดของศาล คือการเยียวยาผู้เสียหาย และแก้ไขปัญหาใด ๆ จากการละเมิดบทกฎหมาย

     หากมองจากหลักทฤษฎีข้างต้น ไม่น่าแปลกใจที่ข้อกำหนดในมาตราดังกล่าวจะถูกมองว่ามีลักษณะเป็นเครื่องมือในการห้ามไม่ให้บุคคลใด ๆ วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อกำหนดในลักษณะดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทยหลายครั้งเป็นการตัดสินประเด็นการเมือง ผู้ไม่พอใจย่อมมีมาก เมื่อคนเราไม่พอใจอะไรแล้ว การหลุดวิจารณ์ด้วยถ้อยคำหยาบคายย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย และสุดท้ายแล้วมาตรานี้อาจถูกนำมาเพื่อกลั่นแกล้งกันหรือก่อให้เกิดความกลัวจนไม่ใครกล้าวิจารณ์คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยข้อสังเกตุจำพวกนี้ปรากฎให้เห็นมาเป็นเวลานาน ทั้งในรูปบทความ งานเขียนเชิงวิชาการ วิทยานิพนธ์ และอื่น ๆ

     ดังนั้นการละเมิดอำนาจศาลจึงไม่ใช่การป้องกันคำพิพากษาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ของการกระทำในเชิงวิชาการ หรือการวิจารณ์ผ่านอารมณ์ที่ขุ่นมัวของผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่เป็นการป้องกันการกระทำใด ๆ ที่จะทำให้การสร้างความยุติธรรมตามกฎหมายนั้นล่าช้าหรือเสื่อมเสีย การห้ามวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาล แม้จะเป็นการห้ามโดยถ้อยคำที่ดูรุนแรงจึงจะดูเป็นการห้ามที่เกินขอบเขตของการละเมิดอำนาจศาลไปมาก แม้กระทั่งในทางวิชาการเองการวิจารณ์คำพิพากษาของศาลในหลาย ๆ ครั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณาหลักกฎหมายมากกว่าผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดความศักดิ์สิทธิของคำพิพากษา (หากพูดถึงในเชิงของการต้องให้ความเคารพ) การห้ามวิพากษ์วิจารณณ์คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีลักษณะที่ขยายขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญออกไปอย่างกว้างขวาง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นการหมิ่นเหม่ที่จะใช้อำนาจนั้นให้อยู่ในกรอบหลักการที่สมเหตุสมผล ลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ข้อกำหนดในบทมาตรานี้กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และสร้างกระแสตอบรับเชิงลบค่อนข้างมาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อแน่ว่าท้ายที่สุดจะต้องมีงานเขียนเชิงวิชาการเต็มรูปแบบมาศึกษาบทบัญญัติมาตรานี้ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะติดตามอ่านต่อไปและควรอย่างยิ่งที่จะเฝ้าติดตามว่าศาลรัฐธรรมนูญเองจะใช้บทบัญญัติมาตรานี้ไปในแนวทางใดกันแน่

 |   |  953 ครั้ง