ความทั่วไปเกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

 

 

ความทั่วไปเกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรรค์ ตันติจัตตานนท์


          เมื่อกล่าวถึงอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ระหว่างประเทศ โดยปกติแล้วเราจะนึกถึงอนุสัญญา หรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนอันมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ระหว่างประเทศ แต่รู้หรือไม่ว่าอันที่จริงแล้วสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ตกลงกันในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรนั้นไม่ได้มีเพียงอนุสัญญาภาษีเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้เพียงประเภทเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอนุสัญญาประเภทอื่นที่ประเทศต่างๆ ได้ตกลงเจรจากันเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีชนิดต่างๆ นอกจากภาษีเงินได้แต่ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันนั่นคือขจัดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนในภาษีชนิดอื่นอีกมากกว่า 20 ประเภท เช่น อนุสัญญาภาษีเกี่ยวกับทรัพย์สิน มรดกและการให้ อนุสัญญาภาษีสำหรับเจ้าหน้าที่บริหารในการจัดเก็บภาษีอากร อนุสัญญาภาษีเกี่ยวกับผลกำไรที่เกิดขึ้นจากอากาศยานและเรือ เป็นต้น 


          อนุสัญญาภาษีประเภทอื่นนั้นยังไม่ปรากฏว่าประเทศไทยได้เคยตกลงทำกับประเทศอื่นไว้  และในปัจจุบันนี้อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ถือเป็นอนุสัญญาภาษีที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด และยังถือเป็นอนุสัญญาที่มีข้อพิพาทในประเด็นที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการโต้แย้งอำนาจในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศต่างๆ มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยตกลงทำอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ กับประเทศอื่นๆ รวม 61 ประเทศ โดยแม่แบบสำคัญที่ทุกประเทศนำมาใช้เป็นต้นแบบในการเจรจาตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ระหว่างกันคือแม่แบบของ OECD (OECD Model) และ แม่แบบของ UN (UN Model) ขอบเขตของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ที่รัฐสองรัฐได้เข้าตกลงเจรจากันจะพบปรากฏอยู่ในข้อบทที่ 2 เรื่อง “ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย” อันเห็นได้ในเบื้องต้นว่าโดยปกติแล้วรัฐแต่ละรัฐนั้นมีอำนาจอธิปไตยโดยเด็ดขาดในการกำหนดการจัดเก็บภาษีอากรชนิดต่างๆ ซึ่งรัฐแต่ละรัฐนั้นต่างจำแนกประเภทในการจัดเก็บภาษีและวิธีการในการเรียกเก็บภาษีไว้แตกต่างกัน ภาษีบางชนิดอาจมีลักษณะการจัดเก็บที่เป็นพิเศษเฉพาะในประเทศ หรือเฉพาะท้องถิ่นที่ประเทศนั้นๆ ที่อาจไม่พบการจัดเก็บภาษีในลักษณะเดียวกันนั้นในประเทศอื่น แต่โดยขอบเขตของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ นี้ในเบื้องต้นเห็นได้ว่าเป็นภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้เท่านั้น 


          ในทางปฏิบัติเมื่อมีการเจรจาตกลงกันประเทศคู่สัญญาอาจทำการตกลงแก้ไข ปรับเปลี่ยนข้อตกลงในเนื้อหาของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ แต่ละฉบับ ซึ่งทำให้อนุสัญญาภาษีซ้อนฯ แต่ละฉบับนั้นมีเนื้อหา รายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ยังคงมีโครงร่างเหมือนกันเพราะยึดตามกรอบแม่แบบ ดังนั้น การบังคับใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนฯ จึงเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน เพราะจะต้องบังคับการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายภายในประกอบกับการบังคับตามอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ และจะต้องคำนึงถึงการตีความในตัวอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ แต่ละฉบับที่มีความแตกต่างกันอีก

 

  • 10838 ครั้ง