“ไต้หวัน”ในมุมมองและทางปฏิบัติของไทย

Categories: law-more for law

 

ไต้หวันในมุมมองและทางปฏิบัติของไทย

โดย อาจารย์เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา

สาขากฎหมายระหว่างประเทศ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

         

ไต้หวัน” ใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน (Republic of China: ROC)”  แต่หากเรามองสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)ในปัจจุบันเปรียบเทียบกับ สาธารณรัฐจีน” ที่เคยเป็นมาในอดีตย่อมเห็นความแตกต่างในชื่อเรียกที่เหมือนเดิม กล่าวคือ สาธารณรัฐจีนถูกสถาปนาขึ้นแทนที่ระบอบจักรพรรดิเมื่อปี พ.ศ.2455(1912) หลังการโค่นล้มราชวงศ์ชิงของคณะผู้ก่อการ ซึ่งภายหลังได้รวมตัวกันในนามพรรคก๊กมินตั๋ง (Chinese Nationalist Party) และแม้ว่าจะมีบางช่วงเวลาที่จีนกลับคืนสู่ระบอบจักรพรรดิแต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ด้วยความเข้มแข็งของพรรคก๊กมินตั๋งทำให้แผ่นดินจีนถูกรวมเข้าไว้ภายใต้ระบอบสาธารณรัฐอีกครั้ง โดยรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งหรือในอีกชื่อหนึ่งคือ รัฐบาลจีนคณะชาติ” เป็นผู้ใช้อำนาจแต่เพียงผู้เดียวในปกครองปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด และเป็นแกนสำคัญในเอเชียที่นำฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยเหนือฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ จนกลายเป็น ใน ชาติสัมพันธมิตรผู้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ.2488 (1945)  

 

อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีน(Chinese Communist Party :CCP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 (1921) ซึ่งมีแนวทางและอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างไปจากพรรคก๊กมินตั๋งนั้น ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองแย่งชิงการควบคุมประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดในปี พ.ศ.2492(1949) พรรคก๊กมินตั๋งซึ่งนำโดยนายพลเจียงไคเชกได้พ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งนำโดย เหมา เจ๋อตง ทำให้รัฐบาลจีนคณะชาติลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวันแต่ยังคงประกาศตนเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐจีน ซึ่งขณะนั้น สาธารณรัฐจีน” โดยรัฐบาลจีนคณะชาติยังคงครองที่นั่งในองค์การสหประชาชาติอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของชาติพันธมิตรทั้งตะวันตกและตะวันออก(รวมถึงประเทศไทยด้วย) ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งกุมแผ่นดินใหญ่ได้สำเร็จได้สถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน(People's Republic of China :PRC)” ขึ้นแทนที่ สาธารณรัฐจีน” ด้วยเหตุนี้ในทางความเป็นจริง อำนาจการปกครองของรัฐบาลจีนคณะชาติจึงถูกจำกัดลงโดยปริยาย เฉพาะเพียงอีกฟากของช่องแคบเหนือเกาะไต้หวัน เผิงหู หมู่เกาะจินเหมิน หมู่เกาะหมาจู่และเกาะใกล้เคียงอื่นๆเท่านั้น  แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ทั้งปวงที่รัฐบาลจีนคณะชาติครอบครองและควบคุม ในฐานะที่ดินแดนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลจีนคณะชาติของสาธารณรัฐจีนเองก็อ้างสิทธิ์เหนือจีนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน

 

การควบคุมเหนือดินแดนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ(effective control)ของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศก็ดี การดำเนินวิเทโศบายตามนโยบายจีนเดียวก็ดี ตลอดจนปัจจัยทางด้านการเมืองระหว่างประเทศอื่นๆก็ดี ทำให้นานาประเทศหันไปรับรองรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้น จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514(1971) สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ลงมติเสียงข้างมาก 76 ประเทศ[1] รับรองให้ ผู้แทนของสาธารณรัฐประชาชนจีน” เป็น ผู้แทนที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวของจีนในสหประชาชาติและเป็นหนึ่งในห้าที่นั่งของสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง” ข้อมตินี้เป็นอันยุติบทบาทของผู้แทนรัฐบาลจีนคณะชาติในองค์การสหประชาชาติทุกที่นั่ง และเป็นการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในเวทีระหว่างประเทศของ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” แทนที่ “สาธารณรัฐจีน

หลายท่านอาจถามว่าแล้วตอนนั้นประเทศไทยอยู่ข้างไหน การตอบคำถามนี้ในวันนี้เป็นสิ่งที่ง่ายมากเพราะมีเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับบันทึกเอาไว้ แต่ถ้าจะตอบคำถามนี้ในห้วงเวลานั้นคงเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับประเทศไทยที่จะต้องเลือกระหว่างรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งของจีน และคำตอบคือ ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งนั้นประเทศไทย “Abstain” หรือ งดออกเสียง ซึ่งในมุมมองผู้เขียนเห็นว่านั่นเป็นท่าที่ที่เหมาะสมที่สุดกับบริบทที่ดำรงอยู่แล้ว การสงวนท่าทีของไทยเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ไทยยังคงระวังรักษามิตรภาพกับรัฐบาลจีนคณะชาติในฐานะเป็นพันธมิตรเก่าแก่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อ พ.ศ. 2489 (1946)[2]และที่สำคัญเป็นแรงสนับสนุนหลักให้ไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2489 (ค.ศ. 1946)  ขณะที่ก็ไม่ถึงขนาดปิดประตูตายสำหรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลและทรงอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างมากและมีแนวโน้มที่ไทยจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วยกันขณะนั้นก็จะมี อินโดนีเซีย ที่งดออกเสียงเช่นเดียวกันกับไทย ส่วนฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐเขมร(Khmer Republic)[3] ออกเสียงไม่เห็นชอบ ส่วนที่เห็นชอบก็มี สิงค์โปร์ พม่า(Burma) ลาว และมาเลเซีย  คราวนี้ลองมาดู ประเทศที่เป็นสมาชิกถาวร(Permanent members)ของคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ดูบ้างว่าลงคะแนนเสียงกันอย่างไร เริ่มที่ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหราชอาณาจักร ประเทศนี้ออกเสียงเห็นชอบ ส่วนสหรัฐอเมริกาออกเสียงไม่เห็นชอบ และสุดท้ายจีน” ไม่ได้เข้าร่วมประชุมออกเสียงเพราะขณะนั้นรัฐบาลจีนคณะชาติได้ประกาศถอนตัวออกจากสหประชาชาติไปแล้วจึงไม่มีผู้แทนเข้าร่วมการประชุม

ตลอดช่วงเวลาของการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนนับตั้งแต่การเข้าครอบครองที่นั่งแทนรัฐบาลจีนคณะชาติ เมื่อ พ.ศ. 2514(1971) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็มีมากยิ่งขึ้น ทำให้ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อจีนแผ่นดินใหญ่นั้นค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป จนนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ กรกฎาคม พ.ศ. 2518(1975) ณ กรุงปักกิ่ง โดยมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชน์ นายกรัฐมนตรีของไทยและนายโจว เอิน ไหล นายกรัฐมนตรีของจีนเป็นผู้ลงนามท้ายในแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และถ้อยคำในแถลงการณ์นี้เองที่เป็นจุดชี้ชัดว่า มุมมองของรัฐไทยต่อสถานภาพของ สาธารณรัฐจีน” หรือไต้หวัน” นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังความที่ปรากฏว่า

 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นรัฐบาลเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีนเพียงรัฐบาลเดียว รับทราบท่าทีของรัฐบาลจีนว่า มีจีนเพียงประเทศเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีนที่จะแบ่งแยกไม่ได้ และตกลงใจที่จะถอนผู้แทนของตนทั้งหมดออกจากไต้หวันภายในระยะเวลา เดือนนับจากวันลงนามในแถลงการณ์นี้[4]

 

นอกจากถ้อยความในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวแล้ว ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงวันที่ กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ยังยืนยันในทำนองเดียวกัน ความว่า 

 

ราชอาณาจักไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้บรรลุถึงความตกลงในเรื่องการรับรองซึ่งกันและกัน และการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักไทยยุติความสัมพันธ์เป็นทางการทั้งสิ้นระหว่างไทยกับไต้หวัน รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยังถืออีกว่านับแต่วันเดียวกันนั้น ความตกลงเป็นทางการทั้งหมด ที่ได้กระทำไว้ระหว่างประเทศไทยกับไต้หวันก็สิ้นสุดลงด้วย ผู้แทนทางการทั้งหมดของไต้หวันในประเทศไทยได้รับแจ้งให้ถอนออกไปภายในระยะเวลา เดือนนับแต่วันที่ลงนามในแถลงการณ์

 

ภายใต้ความตกลงและการกระทำฝ่ายเดียวของไทยข้างต้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จนกระทั่งปัจจุบัน ไทยยังคงยึดถือนโยบายและหลักการว่าด้วยจีนเดียวเสมอมาและดำเนินการปฏิสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่นางไช่ อิงเหวิน เข้ารับตำแหน่งผู้นำไต้หวันตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ของสองฝั่งช่องแคบเกาะไต้หวันมีความตึงเครียดอย่างมาก รัฐบาลจีนใช้มาตรการกดตันไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไต้หวันให้เหลือน้อยที่สุดโดยการแย่งชิงพันธมิตรทางการทูต รวมถึงการเรียกร้องให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่สนับสนุนไต้หวันในการเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศ ท่าทีของประเทศต่างๆต่อไต้หวันจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและเฝ้าจับตา ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตประเทศไทยเคยถูกสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยประท้วงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำว่า "สาธารณรัฐจีน"  และ "กรุงไทเป"  ในแถลงการณ์ของรัฐบาล ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการดำเนิน ความสัมพันธ์จีน การเข้าไป ปฏิสัมพันธ์กับไต้หวันในทางปฏิบัติของไทยจึงดำเนินไปอย่างจำกัดและระมัดระวังและมีแนวปฏิบัติที่ค่อนข้างชัดเจนซึ่งจะจำกัดการปฏิสัมพันธ์เพียงเฉพาะความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม นอกจากนี้ยังงดเว้นการเชิญผู้แทนของไต้หวันเข้าร่วมงานสำคัญของชาติ  การงดเว้นการเข้าร่วมงานสำคัญทางการของไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาการรับรองรัฐบาลโดยพฤตินัย  รวมทั้งงดการเรียก ไต้หวัน” ว่า สาธารณรัฐจีน” “ประเทศไต้หวันหรือประเทศไทเป” และการงดเรียก กรุงไทเป” เนื่องจากคำว่ากรุง” มีนัยของการเป็นเมืองหลวงของประเทศ โดยให้เรียก เมืองไทเปแทน

 

มุมมองและทางปฏิบัติของไทยต่อสถานภาพของไต้หวันข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับหลักการจีนเดียวและคำนึงว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับไต้หวันนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่บุคคลโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ผู้แทนของรัฐ รวมถึงส่วนราชการต่างๆของไทยจะต้องให้ความสำคัญมิให้เกิดข้อผิดพลาด[5] เพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงสถานการณ์อันจำเป็นในอนาคตที่ประเทศไทยจะต้องจำต้องเปลี่ยนแปลงท่าทีอีกครั้งในประเด็นว่าด้วย ไต้หวัน


[1] เห็นชอบ 76 ประเทศไม่เห็นชอบ  35 ประเทศงดออกเสียง 17 ประเทศไม่ลงคะแนนเสียง 3 ประเทศ

[2] สนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีน พ.ศ. 2489

[3] กัมพูชาในขณะนั้นถูกปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ โดยมีนายพล ลอนนอล เป็นประธานาธิบดี และระบอบสาธารณรัฐได้สิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากที่เขมรแดงยึดกรุงพนมเปญได้และประกาศจัดตั้งกัมพูชาประชาธิปไตยในระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยมโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาหรือเขมรแดงเป็นรัฐบาล

[4] ข้อ แถลงการณ์ร่วมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2518

[5] จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ไทยรับรองหลักการจีนเดียวตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ยังมีส่วนราชการของไทยบางหน่วยงานที่อาจจะยังขาดความละเอียดรอบคอบในประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนในทางระหว่างประเทศ โดยใช้ คำว่า สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน)” ในประกาศของหน่วยงาน แทนที่จะใช้คำว่า ไต้หวัน ตามแนวปฏิบัติที่พึงยึดถือ เช่นล่าสุด ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)พ.ศ. 2562  ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พ.ศ. 2559 เป็นต้น การที่องค์กรของรัฐมิได้แสดงออกไปในแนวปฏิบัติอย่างเดียวกัน (Speak with one voice) ในทางระหว่างประเทศ อาจนำไปสู่ปัญหาทั้งในทางการเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการตีความเรื่องการรับรองรัฐหรือการรับรองรัฐบาลไต้หวันโดยพฤตินัยได้(de facto)

  • 9332