ความเหลื่อมล้ำในระดับการพัฒนามนุษย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน…อุปสรรคสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

Categories: law-more for law

ความเหลื่อมล้ำในระดับการพัฒนามนุษย์ของประเทศสมาชิกอาเซียน…อุปสรรคสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

     แม้ว่าอาเซียนจะได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 อันประกอบไปด้วย 3 เสาหลักที่สำคัญ ได้แก่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) แต่ทว่าการจะบรรลุเป้าหมายในการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบซึ่งต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดแนบแน่นระหว่างประเทศสมาชิกในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงด้านความมั่นคงนั้นย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้หากเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงมีความเหลื่อมล้ำและความแตกความแตกต่างในระดับการพัฒนา (Level of Development) ของประเทศสมาชิกอยู่มากดังเช่นปัจจุบัน

     ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงมีระดับการพัฒนาแตกต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country) ขณะนี้มีเพียงประเทศสิงคโปร์ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country) และประเทศบรูไนที่เข้าใกล้สถานะการเป็นประเทศพัฒนาแล้วมากที่สุด ความแตกต่างในระดับการพัฒนาเหล่านี้สามารถวัดได้จากตัวชี้วัดที่สำคัญอย่างดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program: UNDP) ที่ต้องการให้ปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญนอกเหนือไปจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมาเป็นส่วนหนึ่งในการวัดระดับการพัฒนาของประเทศ ดังนั้นดัชนีการพัฒนามนุษย์จึงเป็นตัวชี้วัดที่จะแสดงถึงการพัฒนาของประเทศใน 3 ด้านที่สำคัญ อันได้แก่ ด้านสุขภาพ โดยจะวัดจากอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรในประเทศ (Life Expectancy) ด้านการศึกษา โดยจะวัดจากอัตราจำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษา (Mean Years of schooling) และจำนวนปีที่คาดว่าจะได้รับการศึกษา (Expected Years of Schooling) และด้านมาตรฐานการครองชีพ โดยจะวัดจากรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อบุคคล (Gross National Income (GNI) per capita) ซึ่งองค์ประกอบทั้งสามด้านนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงระดับการพัฒนามนุษย์ของแต่ละประเทศ  โดยค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์จะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 กล่าวคือ ค่าที่เข้าใกล้ศูนย์จะแสดงถึงการพัฒนามนุษย์ในระดับที่ต่ำ และค่าที่เข้าใกล้ 1 จะแสดงถึงการพัฒนามนุษย์ในระดับที่สูง

     จากข้อมูลดัชนีการพัฒนามนุษย์ในปี 2559 ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับที่หลากหลาย  โดยประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในอันดับที่สูงที่สุด คือ สิงคโปร์ โดยมีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ที่ 0.925 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองลงมาคือ บรูไน ซึ่งมีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ที่ 0.865 ดังนั้นทั้งสิงคโปร์และบรูไนจึงถูกจัดกลุ่มอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับที่สูงมาก (Very High Human Development) ในขณะที่มาเลเซียและไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับที่สูง (High Human Development) ด้วยค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ 0.789 และ 0.740 ตามลำดับ  ส่วนประเทศสมาชิกที่เหลืออีก 6 ประเทศ อันได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และพม่า ต่างถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับปานกลาง (Medium Human Development) โดยมีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ที่ 0.689 0.683 0.682 0.586 0.563 และ 0.556 ตามลำดับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศมีการพัฒนามนุษย์ในระดับกลาง และแม้แต่ประเทศสมาชิกที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้เองก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ โดยแม้ว่าลาว กัมพูชา และพม่า จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ แต่ทว่าทั้งลาว กัมพูชา และพม่ายังคงมีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศเหล่านี้จะต้องมุ่งยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุข การศึกษาและเศรษฐกิจอันจะนำไปสู่การพัฒนามนุษย์ในระดับที่สูงขึ้น

     แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ในปี 2559 ไม่มีประเทศสมาชิกใดในอาเซียนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับต่ำ (Low Human Development) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของเหล่าประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศสมาชิกที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อย่างเช่น พม่า ที่ได้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับต่ำเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามช่องว่างในระดับการพัฒนามนุษย์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองยังคงมีมาก กล่าวคือ หากเปรียบเทียบกับค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ของพม่ากับค่าเฉลี่ยดัชนีการพัฒนามนุษย์ของเหล่าประเทศสมาชิกอาเซียนในปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 0.707 นั้นจะพบว่า ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของพม่ายังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียนอยู่ค่อนข้างมาก ความแตกต่างดังกล่าวนี้ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ของอาเซียน กล่าวคือ หากประเทศสมาชิกยังคงมีขีดความสามารถและระดับการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมาก การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของประชาคมอันเป็นที่น่าพอใจของทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้กฎหมายของเหล่าประเทศสมาชิกมีความสอดคล้องต้องกัน (Harmonisation Of Laws) หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดแนบแน่นมากยิ่งขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงด้านความมั่นคงย่อมมิอาจบรรลุผลสำเร็จได้ ดังนั้นหากอาเซียนต้องการที่จะเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ หนึ่งในภารกิจที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดคงหนีไม่พ้นการลดช่องว่างในระดับการพัฒนามนุษย์ระหว่างประเทศสมาชิกให้ลดน้อยลง จนในที่สุดจะต้องสามารถทำให้ทุก ๆ ประเทศพัฒนาไปพร้อม ๆ กันได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

  • 3089