"โครงการพัฒนาความสามารถในการเขียนโครงการวิจัยเชิงบูรณาการข้ามศาสตร์และ การเขียนผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ"

Categories: law-ข่าวประชาสัมพันธ์

"โครงการพัฒนาความสามารถในการเขียนโครงการวิจัยเชิงบูรณาการข้ามศาสตร์และ

การเขียนผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ"

                        ตามที่รองศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง "โครงการพัฒนาความสามารถในการเขียนโครงการวิจัยเชิงบูรณาการข้ามศาสตร์และการเขียนผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ" มีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้

                  มีข้อสังเกตเรื่องปัญหาประกาศคณะกรรมการข้าราชพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ว่า ประกาศมีผลบังคับใช้ทันที โดยประกาศฯ ในปี พ.ศ. 2560 ใช้บังคับไม่ถึง 2 ปี ถูกยกเลิกและประกาศฯ ฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้นที่ออกประกาศส่งผลให้อาจารย์ไม่ทันตั้งตัวกับเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มระดับคุณภาพมาพร้อมกับความยาก จำกัดช่องทางการเผยแพร่ผลงาน เน้นเป็นนานาชาติแต่ขาดความเข้าใจส่งผลกระทบต่อบางสาขาวิชา อีกทั้งยกเลิกสัดส่วนและใช้ดุลยพินิจแทน ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ ทางวิทยากรได้เทียบให้เห็นถึงหลักเกณฑ์เดิมที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงบังคับใช้และหลักเกณฑ์ใหม่ที่ประกาศออกมา

                  ประเด็นต่อมา วิทยากรได้ให้ความรู้ในเรื่อง การเขียนโครงการวิจัยเชิงบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยเห็นว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยควรเน้นและส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์สาขาวิชา อันมีส่วนสำคัญต่อการสนองตอบความต้องการจำเป็นของโลกยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตที่นับวันจะทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้วยว่าความรู้ทางด้านศาสตร์สาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่งไม่เพียงพอต่อการสนองตอบโจทย์ความต้องการของสังคมอีกต่อไป อีกทั้ง ความต้องการของหน่วยงานผู้ให้ทุนในปัจจุบันที่เน้นการเขียนโครงการวิจัยบูรณาการข้ามศาสตร์ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมของความรู้หลากหลายศาสตร์สาขาวิชาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ดังกล่าวเหล่านี้มาบูรณาการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดทางปัญญา เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและมหาวิทยาลัยให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับ งานวิจัยแบบ “บูรณาการ” เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ 2 ศาสตร์เป็นต้นไปที่มีความแตกต่างกัน อาทิ ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย เป็นต้น โดยวิทยากรได้แนะนำเทคนิคในการทำวิจัยบูรณาการข้ามศาสตร์ว่าต้องเริ่มจากศึกษาเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรชุมชน และทำการเรียนรู้ร่วมกัน แต่ทั้งนี้ การทำงานวิจัยเชิงบูรณาการมีความเสี่ยงที่จะทำไม่สำเร็จ เสียหายเยอะ เพราะการบูรณาการความรู้ของแต่ละศาสตร์ที่มีความแตกต่างกันมากมีฐานคิดที่ไม่เหมือนกันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอาจมีสูง

 

  • 285