เมื่อพญาอินทรีประกาศเลือกข้างในทะเลจีนใต้

Categories: law-more for law

เมื่อพญาอินทรีประกาศเลือกข้างในทะเลจีนใต้

ยศพนธ์ นิติรุจิโรจน์

            ทะเลจีนใต้ (โดยไม่รวมอ่าวไทย) มีขนาดพื้นที่ประมาณ 2.7-3 ล้านตารางกิโลเมตร[1] ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก[2] เป็นแหล่งรวมทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ตลอดจนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกด้วย

     ข้อพิพาททะเลจีนใต้นั้นเป็นที่สนใจต่อประชาคมโลกอย่างยิ่ง สาเหตุเนื่องจากเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน (แผ่นดินใหญ่และไต้หวัน) ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน 

     เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2013 ฟิลิปปินส์ได้ริเริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการกล่าวหาจีนโดยอาศัยกลไกระงับข้อพิพาทภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (อนุสัญญากฎหมายทะเล)[3] และศาลอนุญาโตตุลาการที่จัดตั้งขึ้นตามความในภาคผนวก แห่งอนุสัญญากฎหมายทะเล (ศาล) ได้มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2016 โดยตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายชนะคดีไปตามคำฟ้องเกือบทุกข้อ อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนก็มิได้สนใจและปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว ทั้งยังกล่าวว่าคำชี้ขาดของศาลจำนวนเกือบห้าร้อยหน้านั้นเป็นเพียงเศษกระดาษ (Wastepaper) และนักวิชาการของจีนได้ออกมาตอบโต้คำชี้ขาดดังกล่าวทุกประเด็นได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการอ้างสิทธิของจีนในภายในเส้นประเก้าเส้น[4]

       แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่ใช่คู่พิพาทโดยตรงในข้อพิพาททะเลจีนใต้ แต่ก็อ้างว่าตนมีส่วนได้เสียในทะเลจีนใต้ เนื่องจากสามารถอุปโภคสิทธิการเดินเรือโดยเสรีภาพ (freedom of navigation) ในทะเลจีนใต้ ดังนั้น สหรัฐจึงมีความกังวลต่อการที่ประเทศจีนไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว และสหรัฐมักจะดำเนินการบางประการเพื่อยืนยันสิทธิของตน เช่น การใช้อากาศยานบินผ่านน่านน้ำในทะเลจีนใต้ การปล่อยโดรนใต้น้ำ (underwater drone) เข้าไปสำรวจในทะเลจีนใต้เมื่อปี ค.ศ. 2016[5] เป็นต้น

          ล่าสุดภายหลังครบรอบ ปีแห่งการตัดสินคดีพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์และจีนเพียง วัน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2020 นายไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeoรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ว่าการอ้างสิทธิของจีนในทะเลจีนใต้นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประชาคมโลกจะไม่ยอมให้จีนถือเอาทะเลจีนใต้เป็นจักรวรรดิทางทะเลของจีน (the world will not allow Beijing to treat the South China Sea as its maritime empire) และจะอยู่เคียงข้างประเทศพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[6]

    ถ้อยแถลงของปอมเปโอในครั้งนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากถือเป็นการแสดงเจตนาปฏิเสธการอ้างอำนาจอธิปไตยของจีนในทะเลจีนใต้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกและได้ประกาศชัดว่าจะอยู่ข้างประเทศพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ แม้ว่าสหรัฐจะแสดงความกังวลต่อท่าทีของจีนในทะเลจีนใต้แต่การแถลงนโยบายโดยปกติจะมีประโยคที่ถูกกล่าวขึ้นอยู่ด้วยเสมอ ได้แก่ “สหรัฐจะไม่เลือกข้างในข้อพิพาทอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้” ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่าการแถลงการณ์ของสหรัฐในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศสงครามของสหรัฐกับจีนหรือไม่ หรือเป็นเพียงการข่มขู่จีน หรือจะเป็นการกระทำเพื่อหาเสียงก่อนการเลือกตั้งกันแน่ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของสหรัฐในทะเลจีนจะต้องทบทวนให้มากขึ้น เนื่องด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหารของจีนในปัจจุบันนี้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหรัฐจะควบคุมสถานการณ์ในทะเลจีนใต้แต่เพียงฝ่ายเดียว  

 

 

 


[1] Nien Tsu Alfred Hu, ‘Semi Enclosed Troubled Waters: Anew Thinking on the Application of the 1982 UNCLOS Article 123 to the South China Sea’, Ocean Development & International Law, 41 (3), 2010, p. 301. 

[2] ยศพนธ์ นิติรุจิโรจน์, มุมมองของประเทศจีนเกี่ยวกับคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างฟิลิปปินส์และจีนในทะเลจีนใต้, ดุลพาห, เล่ม 3, ปีที่  63, พ.ศ. 2559, น. 208. 

[3] Award on Jurisdiction and Admissibility, 29 October 2015, p. 15. 

 [4] โปรดดู ยศพนธ์ นิติรุจิโรจน์, คดีทะเลจีนใต้กับการอ้างสิทธิของประเทศจีน, บทบัณฑิตย์, เล่มที่ 76, ตอน 1, พ.ศ. 2563.

[5] South China Morning Post, China seizes US underwater drone in South China Sea, Available at https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/2055315/china-seizes-us-underwater-drone-south-china-sea, July, 15 2020. 

[6] U.S. Department of State, U.S. Position on Maritime Claims in the South China Sea, Available at: https://www.state.gov/u-s-position-on-maritime-claims-in-the-south-china-sea/, July, 15 2020.

  • 2030