สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19                                                    

Categories: law-more for law

 

สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานของลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

                                                   

พิมลกร แปงฟู[1]

 

           ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสมทั่วโลก 10,803,509 ราย ผู้เสียชีวิต 518,968 ราย  และผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 6,028,298 ราย ส่วนประเทศไทย มีผู้ป่วยสะสม 3,179 ราย ผู้เสียชีวิต 58 ราย และผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 3,059 ราย[2] ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก รวมทั้งส่งผลโดยตรงต่อแรงงานที่เกี่ยวข้องในกิจการที่ถูกสั่งให้ปิดกิจการหรือต้องปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากไม่มีคนมาทำงาน หรือไม่มีลูกค้าผู้บริโภค หรือผู้รับบริการ ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้กองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ประกันตน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออก “กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563”[3] โดยลูกจ้างที่เข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวงฯ มีสิทธิได้รับเงินชดเชยในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ซึ่งให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่หยุดงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 7,080-8,000 บาท  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

          ใครคือ ผู้มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ?

           ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานสัญชาติไทย หรือแรงงานข้ามชาติ

 

          เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน?

           1) ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน จะต้องเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ตามมาตรา 78 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กล่าวคือ ต้องมีการจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน  เช่น ลูกจ้างว่างงานในเดือนมีนาคม 2563 ต้องนับระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงานคือ เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งจะต้องมีการจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563

           2) มีเหตุสุดวิสัย กล่าวคือ ผู้ประกันตนต้องประสพภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโรคติดต่ออันตรายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

           ข้อที่ต้องพิจารณาในกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ คือ คำว่า “กรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัย” นั้น ย่อมมิใช่การให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานในกรณีทั่วไป แต่เป็นเงื่อนไขของการได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานกรณีพิเศษ ตามมาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ประกอบกฎกระทรวงฯ  ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญ จึงต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วนหลัก คือ มีเหตุสุดวิสัย และเกิดกรณีว่างงานเฉพาะเรื่องขึ้น ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กรณีดังนี้

           1) ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานแต่ไม่เกิน 90 วัน

           กรณีแรกนี้เป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย ประกอบกรณีว่างงานไม่ร้ายแรงอันเนื่องมาจากเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19  (เหตุสุดวิสัย + กรณีว่างงานไม่ร้ายแรง) กล่าวคือ  (1) ลูกจ้าง ไม่ได้ทำงานเนื่องจากถูกกักตัว 14 วัน เพราะอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และ (2) นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานเนื่องจากนายจ้างให้ลูกจ้างกักตัว 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19  โดยทั้งสองกรณีทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง  ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน แต่ไม่เกินแต่ไม่เกิน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

           2) ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย ถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม

           กรณีที่สองนี้เป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย ประกอบกรณีว่างงานร้ายแรงอันเนื่องมาจากนายจ้างต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราว (เหตุสุดวิสัย + กรณีว่างงานร้ายแรง) กล่าวคือ (1) นายจ้างหยุดประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยตนเอง แม้ทางราชการจะไม่ได้สั่ง ซึ่งอาจเกิดได้ด้วยหลากหลายเหตุผล อาทิ ต้องการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเข้ามาในกิจการ ในสำนักงาน หรือในโรงงาน (ไม่ให้ลูกค้า หรือลูกจ้างนำเชื้อไวรัสเข้ามาแพร่) หรือหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเนื่องจากไม่มีลูกค้า หรือผู้รับบริการ ผู้ใช้บริการ หรือกิจการของนายจ้างเป็นกิจการที่มีห่วงโซ่จากกิจการที่ถูกสั่งให้ปิดโดยคำสั่งของทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น กิจการร้านค้า ร้านอาหารที่อยู่ในศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมและสถานที่จัดนิทรรศการ เป็นต้น  (2) นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเป็นสถานที่ที่แพร่เชื้อ เช่น สนามมวย สนามชนไก่ หรือเป็นสถานที่เสี่ยงจะแพร่เชื้อ หรือป้องการการแพร่เชื้อ แม้กิจการนั้นยังไม่มีการแพร่เชื้อก็ตาม  ทั้งนี้ การหยุดประกอบกิจการชั่วคราวดังกล่าวข้างต้นทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชยในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 

           ลูกจ้างผู้ประกันตนจะสิ้นสิทธิในประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยเมื่อใด?

           สำนักงานประกันสังคมจะงดการจ่ายงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย หากปรากฏว่า

           (1) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง โดยให้สิ้นสุดการรับประโยชน์ทดแทน ตั้งแต่วันที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง

          (2) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเนื่องจากสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลง โดยให้สิ้นสุดการรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลง[4]

          ดังนั้น หากลูกจ้างว่างงานจากการลาออกหรือถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 และไม่ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เช่นกัน หากเป็นกรณีลูกจ้างลาออกจากงานโดยสมัครใจ หรือเป็นกรณีที่ลูกจ้างทำสัญญากับนายจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

 

           สถานะการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย

           กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) ได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานไปแล้ว ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จำนวน 1,095,399 ราย เป็นเงิน 6,052 ล้านบาท[5] นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมยังได้มีการติดตามนายจ้างที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทน จำนวน 29,409 ราย โดยให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการ ดังนี้

          1) จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์/อุทธรณ์ COVID-19 ณ สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ รวมทั้งส่วนกลาง ณ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

          2) มีหนังสือแจ้งสถานประกอบการที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทน ให้ตรวจสอบและส่งชื่อลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับเงิน เพื่อดำเนินการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน โดยให้ยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ

           3) มีหนังสือแจ้งผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงิน ให้ยื่นร้องทุกข์/อุทธรณ์ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ

 

          อย่างไรก็ตาม การยื่นคำขอหรือขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยสำหรับแรงงานสัญชาติไทยคงไม่มีปัญหามากนัก เมื่อเทียบกับผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ทั้งหมด 2,531,309 คน[6] โดยส่วนมากทำงานอยู่ในกิจการก่อสร้าง กิจการการให้บริการต่าง ๆ กิจการต่อเนื่องการเกษตร กิจการเกษตร และกิจการผลิตหรือจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ตามลำดับ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันภาคเศรษฐกิจไทย เพราะกำลังแรงงานไทยไม่เพียงพอจะทดแทนแรงงานที่จะเกษียณ ประกอบกับคนไทยไม่นิยมทำงานใช้แรงงานหนักและสกปรกในภาคธุรกิจ  ทั้งนี้ ปัญหาส่วนใหญ่มักสืบเนื่องมาจากการยื่นคำขอต้องทำในระบบออนไลน์หรือเอกสารซึ่งใช้ภาษาไทยเป็นหลัก (มีภาษาอังกฤษบางส่วน) สำหรับผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจึงมีข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการขาดความรู้และความเข้าใจถึงสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ รวมถึงขั้นตอนและวิธีการในการรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว และข้อจำกัดทางภาษาที่มิอาจสื่อสารภาษาไทยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ด้วยเหตุเหล่านี้เองส่งผลให้ผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างย่อมไม่อาจเข้าถึงสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวได้ รวมตลอดถึงมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในที่สุด ฉะนั้น กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) จึงต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อให้ผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานสัญชาติไทยและแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม


[1] อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง E-mail: pimonkorn.pan@mfu.ac.th

[2] สถิติจากศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2563

[3] ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137 ตอนที่ 29 ก หน้า 8 -10. วันที่ 17 เมษายน 2563

[4] ข้อ 6 แห่งกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563

[5] มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง รายงานความคืบหน้าการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

[6] สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือน พฤษภาคม 2563  สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว  กลุ่มงานพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว กรมการจัดหางาน. http://www.doe.go.th/alien สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2563

  • 13384