ทำไมพนักงานอัยการถึงควรเข้าร่วมการสอบสวน

Categories: law-more for law

กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเป็นกระบวนการซึ่งทุกคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมต่างคาดหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการดังกล่าว โดยเฉพาะในคดีอาญาซึ่งขั้นตอนสำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายคือการค้นหาพยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่การพิสูจน์หาความบริสุทธิ์หรือความผิดของผู้ที่ถูกกล่าวหา ซึ่งการค้นหาพยานหลักฐานนี้เองที่จัดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมในทางอาญาทั้งหมด

โดยทั่วไปแล้ว ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นก่อนจะฟ้องคดีขึ้นสู่ศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยหลักแล้วจะประกอบด้วยกันทั้งสิ้นสองฝ่าย ได้แก่ พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) และพนักงานอัยการ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาที่ใช้บังคับในปัจจุบันนั้นให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานแต่เพียงผู้เดียวโดยมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ให้อำนาจแก่พนักงานอัยการในการเข้าร่วมการสอบสวนไว้เลย

ด้วยลักษณะของการดำเนินการสอบสวนที่ผูกขาดเช่นนี้ ทำให้หลายครั้งมักเกิดคำถามว่า ก่อนที่อัยการจะใช้ดุลยพินิจเพื่อทำคำสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องในคดีใด ตัวอัยการเองจะทราบได้อย่างไรว่า พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมมาให้นั้นเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นพยานหลักฐานที่ถูกต้องแท้จริง รวมถึงเป็นพยานหลักฐานที่มีความเชื่อถือหรือไม่ เนื่องจากโดยข้อเท็จจริง ณ ช่วงเวลาปัจจุบันนั้น อัยการเป็นเพียงผู้ที่รับทราบข้อมูลจากสำนวนที่รวบรวมและจัดทำโดยพนักงานสอบสวนเท่านั้น ดังนั้น ถ้าหากมีกรณีที่พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาทำเป็นสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการ โดยเหตุอาจเกิดจากตัวพนักงานสอบสวนเอง หรืออาจเกิดจากอิทธิพลภายนอก ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ สำนวนการสอบสวนนั้นมิชอบด้วยกฎหมาย และทำให้อัยการใช้ดุลพินิจสั่งคดีผิดพลาดได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีโดยไม่ชอบนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคดีเป็นอย่างมาก รวมทั้งอาจทำให้เกิดปัญหาการดำเนินคดีผิดคน ผลที่ตามมาก็คือ ผู้กระทำผิดตัวจริงไม่ได้รับโทษ แต่คนที่ต้องมารับโทษแทนนั้นกลายเป็นแพะรับบาป[1] ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถสร้างความยุติธรรมอันเป็นวัตถุประสงค์ของกระบวนการดังกล่าวได้

แม้ในปัจจุบันจะได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 (ก) ในเรื่องการให้อัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อสั่งต่อไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอัยการจะมีอำนาจในการเข้าร่วมในการสอบสวนแต่อย่างใด เพียงแต่ให้อัยการมีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนไปสอบสวนเพิ่มเติมเท่านั้น ฉะนั้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า อัยการควรเข้าร่วมการสอบสวนในกระบวนการดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้นคดี เพราะว่าอัยการเป็นผู้มีอำนาจที่นำพยานหลักฐานที่รวมรวบเป็นสำนวนการสอบสวนมานั้นมาพิจารณาโดยใช้ดุลยพินิจสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องในทางคดี ซึ่งนอกจากจะช่วยทำรงค์ไว้ซึ่งความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจและป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการสืบสวนสอบสวนด้วย

ทั้งนี้ การที่ให้อัยการไปมีอำนาจในการเข้าร่วมการสอบสวนนั้นเป็นเพียงทัศนะเบื้องต้นของผู้เขียน และในทางปฏิบัติอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องอำนาจการสอบสวนทับซ้อนกันระหว่างอัยการกับพนักงานสอบสวนได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากมีผู้ใดสนใจและพัฒนาเป็นงานศึกษาต่อไปผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมยิ่ง

[1] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้บทนิยามคำว่า “แพะรับบาป” ไว้ว่า “คนที่รับเคราะห์กรรมแทนผู้อื่นที่ทำกรรมนั้น”

 |   |  4755