การลงโทษเยาวชนในคดีอาญา : เยียวยาแก้ไขหรือจูงใจให้กระทำผิดซ้ำ

Categories: law-more for law

   เด็กถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต เมื่อเด็กเติบโตขึ้นพวกเขาจะเป็นคนดีของสังคมและทำประโยชน์ให้แก่ประเทศได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับศักยภาพในตัวของเด็กเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้บิดามารดา ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ช่วยสร้างและพัฒนาความรู้ความสามารถของเด็กนั้น แต่ในสังคมปัจจุบันโอกาสในการพัฒนาเด็กนั้นลดน้อยลงเมื่อพบว่ามีปัญหาเด็กกระทำความผิดกฎหมายกันมากขึ้น และปรากฏว่าเด็กเหล่านั้นมักจะกระทำผิดซ้ำอีกในเรื่องเดียวกันในครั้งต่อ ๆ ไปเมื่อมีโอกาสแม้ได้รับโทษมาแล้วตามกฎหมาย ทำให้ผู้ปกครองไม่สามารถนำเด็กเหล่านั้นเข้าไปดูและและพัฒนาศักยภาพตามขั้นตอนไปกติทั่วไปได้ ดังนั้น ข้อควรพิจารณาที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ เหตุใดเด็ก ๆ เหล่านี้ถึงออกมากระทำความผิดซ้ำอีก แม้จะได้รับโทษทางกฎหมายปกแล้ว

     การที่เด็กกระทำความผิดซ้ำอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่นจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี การคบเพื่อนที่ไม่ดีชักนำกันไปในทางที่ผิด หรือเด็กอาจมีปัญหามาจากครอบครัว การเลี้ยงดูของบิดามารดา การปลูกฝังสิ่งที่ไม่ดีให้กับเด็กทำให้เด็กกลายเป็นเด็กมีปัญหา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยหรือเป็นแรงจูงใจให้เด็กหันมากระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่ายังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เด็กไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิดนั่นคือตัวบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่นั่นเอง เนื่องจากเมื่อเด็กกระทำความผิดแล้ว พวกเขาจะไม่ต้องรับโทษเหมือนกับผู้ใหญ่ แต่พวกเขาจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นกฎหมายที่เข้ามาคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กเป็นการเฉพาะ โดยศาลอาจจะไม่ลงโทษเด็กเลย หรืออาจลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น หรืออาจจะใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด และช่วงอายุของเด็กที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ

     หากพิจารณาตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กในคดีอาญา เราจะพบว่าการกำหนดอัตราโทษของเด็กจะขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของเด็กในแต่ละช่วงวัย เนื่องจากเด็กในแต่ละช่วงอายุมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ต่างกัน วิธีการที่จะลงโทษจึงต้องแตกต่างกันด้วย สุดท้ายแล้วแม้เด็กจะกระทำความผิด และต่อมาศาลพิพากษาว่ามีความผิดแต่ศาลก็จะลงโทษพวกเขาไม่ได้เนื่องจากมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 ให้ความคุ้มครองอยู่แต่ศาลยังคงมีอำนาจในการใช้วิธีการสำหรับเด็ก ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ไปจนถึงวิธีการที่หนักที่สุดสำหรับเด็กคือ ส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานฝึกและอบรมตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่เกินกว่าเด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเด็กฉบับใด ทั้งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ล้วนแล้วแต่ตราขึ้นมาบนพื้นฐานของทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู โดยเป็นการมุ่งเน้นศึกษาทำความเข้าใจสาเหตุแห่งการกระทำความผิดโดยเน้นตัวบุคคลผู้กระทำความผิดและสภาพแวดล้อมเพื่อที่จะหาทางแก้ไขตัวบุคคลผู้กระทำความผิดมากกว่าที่จะลงโทษ เป็นการให้โอกาสผู้กระทำผิดได้กลับตัวเป็นคนดีและสามารถเข้าสู่สังคมได้ด้วยความปกติสุข ซึ่งเจตนารมณ์แห่งการตรากฎหมายสำหรับเด็กนั้นมองว่าเด็กเป็นผู้หย่อนความสามารถเมื่อมีการกระทำความผิดจึงควรได้รับโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงตัวเอง ดั่งคำกล่าวของ เคิทเวย์(George F. Kirchway) ที่ว่า “…การลงโทษไม่สามารถยับยั้ง ผู้ซึ่งหย่อนความรับผิดชอบได้เพราะว่าเขาไม่รู้ถึงผลร้ายที่จะได้รับจากการกระทำผิด ไม่สามารถที่จะยับยั้งบุคคลวิกลจริตได้ เพราะว่าเขาพยายามขัดแย้งกับบรรทัดฐานของสังคมอยู่แล้ว ไม่สามารถยับยั้งผู้ที่กระทำผิดด้วยความฉลาดได้ เพราะว่าเขาย่อมไม่คิดว่าจะถูกจับได้ ไม่สามารถยับยั้งผู้ซึ่งกระทำความผิดโดยกระทันหันได้ เพราะว่าแรงกระตุ้นให้กระทำผิดมีเร็วกว่าที่จะคิดถึงเหตุผล ถ้าการลงโทษไม่สามารถยับยั้งบุคคลเหล่านี้ได้ แล้วใครกันที่การลงโทษจะยับยั้งได้ ก็คงจะมีแต่บุคคลซึ่งมีมาตรฐานความประพฤติที่ดีและไม่ละเมิดกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยการลงโทษเพื่อเป็นการยับยั้งมาขู่เลย…” ซึ่งแน่นอนว่า ผู้เขียนมีมุมมองที่แตกต่างออกไปว่าการที่กฎหมายให้ความคุ้มครองแก่เด็กเช่นนี้อาจจะเป็นช่องว่างในทางกฎหมายที่ทำให้เด็กไม่เกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ไม่เข็ดหลาบ และยังกล้าที่จะกระทำความผิดซ้ำอีก หรือด้วยการให้ความคุ้มครองนี้อาจเป็นช่องทางให้ผู้กระทำความผิดใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของตนก็ได้ โดยในทางปฏิบัติจริงพบว่าปัจจุบันเด็กมีสถิติในการกระทำความผิดซ้ำเป็นจำนวนมากกว่าการกลับตัวกลับใจเป็นคนดี และมักจะพบว่าเป็นเด็กคนเดิม กระทำความผิดซ้ำในเรื่องเดิม โดยบางกรณีเด็กมีพฤติกรรมในการกระทำความผิดที่ทารุณโหดร้ายเกินกว่าความเป็นเด็กของตน แต่กฎหมายกลับไม่เคยลงโทษเด็กเหล่านั้นให้เหมาะสมกับความผิดที่พวกเขากระทำ เป็นเหตุให้เด็กเกิดความได้ใจฮึกเหิมและกล้าที่จะกระทำผิดอีกในครั้งต่อไป

     ด้วยเหตุเหล่านี้ผู้เขียนเห็นว่า การตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อเยียวยาฟื้นฟูผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็ก โดยคำนึงแค่ปัจจัยทางด้านอายุอาจจะไม่เพียงพอ และอาจไม่ได้เป็นคุณกับตัวเด็กมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเด็กนั้นกระทำความผิดลงโดยรู้สำนึกถึงการกระทำของตนเฉกเช่นผู้ใหญ่  ซึ่งแน่นอนว่ากรณีดังกล่าวยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปในหลายแนวทาง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าควรมีการพัฒนาเรื่องการลงโทษทางอาญาตามกฎหมายให้มีสภาพบังคับเด็ดขาดและชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งหากเด็กมีความคิดและแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ทารุณเกินกว่าเด็กที่อายุเท่ากันจะกระทำได้ เด็กเหล่านั้นก็ควรที่จะได้รับโทษไม่ต่างจากโทษของผู้ใหญ่ที่กระทำผิด และเมื่อกฎหมายได้รับการแก้ไขแล้ว ก็จะทำให้เด็กที่กระทำความผิดนั้นไม่กล้ากลับมากระทำความผิดซ้ำอีกและเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ดูแลสั่งสอนและพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ดีขึ้นเพื่อเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติต่อไป

  • 12083