ผู้เสพยาเสพติด “ควรถูกมองว่าเป็นผู้ป่วยมากกว่าเป็นอาชญากร”

Categories: law-more for law

          การแก้ไขปัญหายาเสพติดในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2ทฤษฎี คือ 1. ทฤษฎีที่แรก มองว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นอาชญากรควรได้รับการลงโทษ และ 2. ทฤษฎีที่สอง มองว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยควรได้รับการรักษา ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองทฤษฎีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เดียวกันกล่าวคือเพื่อเป็นการลดจำนวนผู้เสพยาเสพติดให้มีจำนวนที่น้อยลง แต่จากการศึกษาพบว่าแนวทางในการปฏิบัติของสองทฤษฎีนั้นต่างกันคือทฤษฎีแรกที่มองว่าผู้เสพยาเป็นอาชญากรจะมีวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับผู้เสพยาเสพติดโดยใช้วิธีลงโทษทางอาญาเป็นหลักเพื่อให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่น่ากลัว และเพื่อที่จะไม่ให้ประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ทฤษฎีที่สองทฤษฎีที่มองว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ทฤษฎีนี้มองว่าโครงสร้างในความรับผิดทางอาญาจะต้องเป็นความผิดที่มีลักษณะเป็นการกระทำที่ไปกระทบต่อบุคคลอื่น การเสพยาเป็นกระทำความที่ไม่ได้ไปกระทบกับใคร การเสพยาจึงไม่ใช่การกระความผิด และการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้เสพยาเสพติดของทฤษฎีนี้ที่มองว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วย จะใช้วิธีการเยียวยาและบำบัดรักษาผู้เสพยา แทนการลงโทษทางอาญาก็เพื่อให้ผู้เสพยาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป

          และจากการศึกษาทฤษฎีการแก้ปัญหายาเสพติดของต่างประเทศ โดยได้มีการศึกษาเฉพาะประเทศที่ใช้วิธีการมองว่าผู้เสพยาเป็นผู้ป่วยไม่ใช่อาชญากร โดยได้ศึกษาจากประเทศ โปรตุเกส เดนมาร์ก มาเลเซีย พบว่า ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีการลงโทษผู้เสพยาในฐานะอาชญากร พวกเขาใช้มาตรการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดแทนวิธีการลงโทษ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าพวกเขาสามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก และเมื่อผู้เขียนได้ศึกษาถึงข้อมูลก่อนที่พวกเขาจะใช้มาตรบำบัดแทนการลงโทษนั้น ก็พบว่าเดิมทีประเทศเหล่านี้ก็มีมุมมองต่อผู้เสพยาเสพติดว่าเป็นอาชญากรไม่ต่างกันกับประเทศไทย

          จากกรณีศึกษาข้อเท็จจริงในประเทศไทยถึงการใช้มาตรการแก้ปัญหายาเสพติด พบว่าประเทศไทยยังมีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นอาชญากรที่ต้องถูกลงโทษเป็นมาตรการหลัก แต่ภายหลังจากเกิดทฤษฎีที่มองว่าผู้เสพยาเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาขึ้นมานั้น ประเทศไทยก็ได้มีมุมมองหรือแนวโน้มที่เปลี่ยนไปคือ จากเดิมที่มองว่าผู้เสพยาเป็นอาชญากรที่จะต้องลงโทษสถานเดียวเปลี่ยนเป็นเริ่มมองว่าผู้เสพยาเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดขึ้นมาบ้าง แต่อย่างไรก็ดีจากการศึกษาจะพบว่ามุมมองของประเทศไทยที่มีต่อผู้เสพยาเสพติดว่าผู้เสพเป็นเพียงผู้ป่วยนั้นก็ยังไม่ได้แสดงออกมาอย่างเด่นชัดมากนัก เพราะเมื่อได้พิจารณาจากนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลแต่ละช่วงแต่ละสมัยมีที่นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดที่ต่างกันออกไป ไม่ค่อยเป็นไปในทางเดียวกันและต่อเนื่องกัน

          ทั้งนี้ จากการศึกษาทฤษฎีและนโยบายของต่างประเทศนั้นเห็นว่า ประเทศไทยควรปรับปรุงและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นให้ลำดับเพื่อที่จะเกิดแนวทางที่แก้ปัญหาที่ถูกต้องและได้ประสิทธิภาพมากขึ้น คือ

          อันดับแรก ภาครัฐควรลดทอนความผิดทางอาญาเกี่ยวกับคดียาเสพติดหรือทำให้ถูกกฎหมายเพื่อที่จะทำให้คนคิดว่าการกระทำที่ไม่มีโทษทางอาญานั้นไม่มีความผิด จึงทำให้ผู้เสพยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร และจะทำให้ประชาชนเกิดมุมมองว่าผู้เสพยาเสพติดนั้นเป็นผู้ป่วยที่ควรจะได้รับการรักษามากกว่าการถูกจับดำเนินคดี และควรเปลี่ยนจากโทษทางอาญามาเป็นโทษทางปกครอง เช่น กักบริเวณผู้เสพยาเสพติด, ยึดใบขับขี่ เป็นต้น

          อันดับสอง ประเทศไทยควรเปลี่ยนทัศนะคติเกี่ยวกับผู้เสพยาเสพติดจากเดิมที่มองว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นอาชญากรให้เปลี่ยนมาเป็นผู้ป่วยที่ควรจะได้รับการรักษาให้ถูกวิธี และควรให้โอกาสแก่ผู้เสพยาเสพติดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับประชาชนทั่วไป เพื่อที่จะให้ผู้เสพยาเสพติดได้ดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติและอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

          อันดับสาม ภาครัฐควรให้การดูแลผู้เสพยาเสพติดด้วยวิธีที่ถูกต้องและถูกวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นปัญหากับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน โดยให้แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกฎหมาย หรือหน่วยงานต่าง ๆ มาดูแลและควบคุมการใช้ยาเสพติดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ

          อันดับสี่ ภาครัฐควรจำกัดสถานที่ในการเสพยาเสพติดให้เหมาะสมและดูแลด้านสาธารณะสุขแก่ผู้เสพยาเสพติด เพื่อเป็นการลดปัญหาเกี่ยวกับการติดเชื้อจากการเสพยาเสพติด และเป็นการควบคุมสถานที่เสพยาเสพติดที่ให้อยู่ในการดูแลของภาครัฐ

          อย่างไรก็ตาม การดำเนินการภายใต้ข้อเสนอนะเช่นนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเลยหากไม่มีการเปรียบเทียบบริบทของสังคมไทยกับต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางในการนำเอานโยบายที่กล่าวไว้ล้วมาใช้ต่อไป

  • 3449