เรื่องเล่า…จากเสียงของเยาวชน สู่ การรับรองสิทธิของ “ป่า” ให้มีสถานะเทียบเท่าบุคคล

Categories: law-more for law

เรื่องเล่า…จากเสียงของเยาวชน สู่ การรับรองสิทธิของ “ป่า” ให้มีสถานะเทียบเท่าบุคคล

             ในอดีตป่าไม้ถูกมองเป็นเป็นเพียงวัตถุที่ให้มนุษย์ใช้ (use) และแสวงหาประโยชน์ (exploitation) รวมถึงใช้เป็นสินค้าในการแลกเปลี่ยน แม้จะมีกฎหมายควบคุมป่าไม้อยู่บ้างก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการให้สัมปทานสร้างรายได้ให้กับรัฐ[1]  จนภายหลังทรัพยากรป่าไม้เริ่มร่อยหรอ มนุษย์จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ในมิติด้านนิเวศน์วิทยา จึงมีการออกกฎหมายมาเพื่อคุ้มครองหรืออนุรักษ์ป่าไม้ขึ้นจากการทำลายป่า แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมีกฎหมายในการอนุรักษ์ป่าไม้แล้ว แต่ก็สถานการณ์การตัดไม้ทำลายป่าก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่หวังเพราะมนุษย์ยังคงมองว่าป่าไม้เป็นเพียง “วัตถุ” อยู่

              เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ มาจากคำพิพากษาศาลฎีกาของสาธารณรัฐโคลอมเบีย STC 4360 – 2018 ที่พึ่งมีคำตัดสินไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2018 ได้ให้การรับรองสถานะของผืนป่าอเมซอนในบริเวณชายแดนโคลอมเบียให้มีสถานะทางกฎหมายเทียบเท่ากับบุคคล (attributing legal personality) ซึ่งเป็นมิติใหม่ในการเปลี่ยนรูปแบบการมองป่าไม้จาก “วัตถุ” เป็น “บุคคล” ที่ไม่ใช่เพียงการอนุรักษ์ป่าตามกฎหมาย แต่ก่อให้เกิดหน้าที่ทางกฎหมายแก่รัฐ (legal obligation) ในการ “ปกป้อง” (protect) และ “ทำให้กลับคืนมาสู่สภาพเดิม” (restore) ของผืนป่าอเมซอน[2]

             เชื่อหรือไม่ว่าผู้ริเริ่มในการฟ้องคดีจนเกิดบรรทัดฐานนี้เป็นเพียงกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 7-26 ปี จำนวน 25 คน ที่อาศัยอยู่ในเมืองร่วมกับ Dejusticia องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฟ้องรัฐบาลตนเองโดยอาศัยสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย (right to a safe environment/ right to life and healthy) ที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้มาเป็นฐานในการฟ้องคดี

           พวกเขากล่าวหาว่า ในช่วงปี 2015-2016 มีการทำลายผืนป่าอเมซอนบริเวณโคลอมเบียเพิ่มมากขึ้นถึง 44% ซึ่งขัดต่อกฎหมาย Law 1753 of 2015 Development Plan 2014-2018 ที่เป็นเป็นกฎหมายภายใน รวมทั้งพันธกรณีตามความตกลงปารีสที่โคลอมเบียผูกพันที่จะลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าอเมซอนให้เป็น 0% ภายในปี 2020

         จนในที่สุดศาลฎีกาได้รับรองให้ผืนป่าอเมซอนมีสถานะทางกฎหมายเทียบเท่ากับ “บุคคล” และรับรองสิทธิของเยาวชนในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเป็นการรับรองแบบคู่ขนานกัน (dual recognition) และศาลได้มีคำสั่งให้ผู้นำรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรให้ริเริ่มสร้างแผนปฏิบัติการในการลดการตัดไม้ทำลายป่าในผืนป่าอเมซอนที่ต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมของผืนป่าอเมซอน  ชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ภายใน 48 ชั่วโมงนับจากได้รับคำสั่งนี้ และให้นำเสนอแผนปฏิบัติการดังกล่าวภายใน 4 เดือน โดยศาลเห็นว่าในขณะนี้โคลอมเบียเผชิญปัญหาอย่างรุนแรงซึ่งการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่จะเป็นการทำลายระบบนิเวศน์และกระทบต่อทรัพยากรน้ำ รวมทั้งสั่งให้องค์กรส่วนท้องถิ่นต้องแจ้งแผนในการจัดการด้านที่ดินแก่ชุมชุนภายใน 5 เดือน รวมทั้งต้องพัฒนาแผนปฏิบัติการในกรลดการทำลายป่าให้เป็นศูนย์ ซึ่งคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นการดำเนินการในระดับภายในประเทศที่ได้รับรองหลักการสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น สิทธิของเยาวชนในการฟ้องคดี สิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิของธรรมชาติ (ป่า) ที่จะได้รับการปกป้องและทำให้ฟื้นกลับคืน รวมทั้งการนำพันธกรณีระหว่างประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาพิจารณาด้วย

          นอกจากนี้ยังได้มีคำสั่งที่ก่อให้เกิดผลในระดับระหว่างประเทศ ในการให้ดำเนินตามกรอบความร่วมมืออเมซอน (Treaty for Amazonian Cooperation) โดยให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบความตกลงดังกล่าวต้องสร้างแผนปฏิบัติการในการลดการทำลายป่าของภูมิภาคนี้ รวมทั้งกำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

          ผลของคำพิพากษาดังกล่าวก่อให้เกิดกระบวนการติดตาม และหากรัฐละเลยหรือล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดสิทธิในการนำคดีมาฟ้องใหม่อีกครั้ง

          ไม่น่าเชื่อว่าพลังของเยาวชนเพียงแค่ 20 กว่าคนจะสามารถสั่นสะเทือนต่อการทำงานของผู้นำรัฐได้ขนาดนี้

หมายเหตุ: คำพิพากษาฉบับเต็มเป็นภาษาสเปน ผู้เขียนจึงอาศัยการอ่านข่าวภาษาอังกฤษเท่าที่หาได้มาเรียบเรียงและนำเสนอ

อ้างอิง:

www.ejiltalk.org/environmental-rights-and-the-legal-personality-of-the-amazon-region/
www.pri.org/stories/2018-05-06/colombian-high-court-grants-personhood-amazon-rainforest-case-against-country-s
www.dejusticia.org/en/en-fallo-historico-corte-suprema-concede-tutela-de-cambio-climatico-y-generaciones-futuras/

[1] ประเทศไทยประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ในปี พ.ศ. 2532
[2] ผืนป่าดิบชื้นอเมซอน (The Amazon Rainforest) เป็นผืนป่าดิบชื้นเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ปกคลุม 9 ประเทศ ได้แก่บราซิลมีสัดส่วนมากถึง 60.1% ตามมาด้วยเปรู 11.8% โคลอมเบีย 7.3% โบลิเวีย 6.6% เวเนซูเอล่า 5.9% กายอานา 3.2% ซูรินาม 2.1% เอกวาดอร์ 1.8% และเฟรนช์เกียนา 1.2%

  • 949