ความได้สัดส่วนของนโยบาย Set Zero

Categories: law-more for law

ความได้สัดส่วนของนโยบาย Set Zero

นางสาวชนิตรา  พวงอินทร์
ผู้ช่วยสอนสำนักวิชานิติศาสตร์

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันนิยมเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนเพิ่มมากขึ้นทุกวันไม่ว่าจะเป็น แมว หรือ สุนัข ด้วยเหตุปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นนี้ทำให้นำมาสู่ปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการพูดถึงการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่กระจายอยู่เป็นอย่างมาก โดยมีแนวคิดจากคนในสังคมกลุ่มนึงเสนอให้มีการป้องกันโรคระบาดดังกล่าวโดยการจัดทำมาตรการ “Set Zero” สุนัขจรจัด โดยการฆ่า เนื่องจากพบสุนัขจรจัดที่เป็นโรคและมีความเสี่ยงที่เป็นโรคอยู่เป็นจำนวนมาก และแนวคิดเช่นนี้ส่งผลให้คนในสังคมอีกกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากตัวบริบทของแนวคิดนี้แล้ว บุคคลในกลุ่มสังคมดังกล่าวจะมีอำนาจกระทำการเช่นนั้นได้จริงแท้หรือไม่? และการกระทำเช่นว่านี้สามารถทำได้หรือไม่ภายใต้หลักกฎหมายปกครอง

     การกระทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดผลในสังคมได้จะต้องเป็นการกระทำที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายปกครองเช่นเดียวกันกับนโยบาย Set Zero ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง เมื่อเป็นเช่นนี้หากคาดหวังจะให้แนวคิดดังกล่าวมีการบังคับใช้ขึ้นภายในสังคมย่อมจะต้องให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ลงมือกระทำการ ฉะนั้นแล้วหากจะพิจารณาถึงการใช้อำนาจรัฐในการออกมาตรการใด ๆ โดยชอบแล้วย่อมต้องพิจารณาการออกมาตรการดังกล่าวควบคู่กันไปกับหลักกฎหมายทั่วไปทางปกครองอันได้แก่หลักแห่งความได้สัดส่วน

     จากการศึกษาของผู้เขียนพบว่า หลักแห่งความได้สัดส่วนประกอบไปด้วยหลักการย่อยสามประการ คือ 1. หลักแห่งความสัมฤทธิ์ผล เป็นการที่ให้อำนาจฝ่ายปกครองออกมาตรการนำมาบังคับใช้ตามความมุ่งหมายของกฎหมายให้สำเร็จกับประชาชน 2.หลักแห่งความจำเป็น เป็นมาตรการที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจออกมาบังคับใช้ตามความมุ่งมายของกฎหมายให้สำเร็จ ทั้งยังมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ฝ่ายปกครองต้องคำนึงถึงมาตรการที่มีความรุนแรงน้อยที่สุด 3.หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ เป็นมาตรการที่กฎหมายให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครองนำมาบังคับใช้กับประชาชน โดยจะต้องเป็นมาตรการในการใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าก่อให้เกิดความเสียหาย

     เมื่อพิจารณาการใช้แนวคิดดังกล่าวควบคู่ไปกับหลักกฎหมายทั่วไปทางปกครองจะพบว่าในส่วนของหลักแห่งความสัมฤทธิ์ผลนั้น เมื่อเอามาปรับกับนโยบาย Set Zero นโยบายดังกล่าวจะต้องสร้างหลักประกันได้ว่าสามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าได้จริง ซึ่งแน่นอนว่าในทางปฏิบัตินั้นผลสำเร็จย่อมเป็นไปตามเจตนารมณ์ กล่าวคือ จำนวนการพบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขจรจัดมีจำนวนลดลงเป็นเหตุแห่งการลดการแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ อีกหลักหนึ่งคือหลักแห่งความจำเป็น หลักการนี้เป็นหลักการที่ต้องเลือกใช้มาตรการที่มีความรุนแรงให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่นโยบายดังกล่าวได้เลือกใช้วิธีการฆ่าซึ่งเป็นวิธีการที่มีความรุนแรงอย่างมากอีกทั้งยังกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และสุดท้ายคือหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ หลักการนี้มุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมมากกว่าที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนเพราะแน่นอนว่าหากขจัดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเช่นว่านี้ได้ สุขอนามัยของประชาชนส่วนรวมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ไม่ต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคระบาด ฉะนั้นแนวคิดการป้องกันการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านี้ ถือว่าเป็นแนวคิดที่ไม่ชอบธรรมด้วยหลักแห่งความจำเป็นเพียงหลักเดียว แต่ยังคงชอบธรรมด้วยหลักความสัมฤทธิ์ผลและหลักแห่งความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ ตามหลักกฎหมายทั่วไปทางปกครอง

     เพื่อให้แนวคิดสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับหลักกฎหมายทั่วไปทางกฎหมายปกครองจำต้องพิจารณาว่าเมื่อวิธีการฆ่าเป็นวิธีที่มีรุนแรงแล้ว มีวิธีอื่นใดหรือไม่ที่สามารถลดทอนความรุนแรงของวิธีการนี้ลงควบคู่กันไปกับการป้องกันการระบาดโรคพิษสุนัขบ้านี้ได้ แน่นอนว่าการลงมือฆ่าควรจะเป็นวิธีการสุดท้ายในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ แม้ว่าการใช้วิธีการนี้จัดการกับปัญหาจะเป็นการกระทำที่มุ่งผลประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมก็ตาม ความในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ได้มีการกำหนดวิธีการที่สามารถจัดการกับสัตว์ที่เป็นโรคระบาดไว้หลายแนวทางทั้งอาจเริ่มโดยการกักขัง แยกหรือทําลายซากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า , ระดมทุนซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นกองกลาง, ประชาสัมพันธ์ผู้ที่สนใจรับอุปการะดูแลสุนัขจรจัดในสถานที่ที่เหมาะสม, จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครเข้ามาดูแลสุนัขจรจัด เข้ามาตรวจสุขภาพ, หรือฉีดวัคซีนทุกระยะเป็นประจำ เช่นนี้อาจเป็นวิธีการที่สามารถปรับสมดุลระหว่างหลักนโยบาย หลักกฎหมายทั่วไปทางปกครองและหลักศีลธรรมให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้มากกว่าหลักการที่ใช้อยู่ในขณะนี้ได้ ท้ายที่สุดแล้วก็เพื่อให้นดำเนินการต่อไปได้และเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของหลักกฎหมายทั่วไปและหลักศีลธรรมอันดีให้คงอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรมต่อไป

  • 1002