ส่องคันฉ่องมองกฎหมายกรุงเก่าผ่านละครบุพเพสันนิวาส ตอน “เมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ต้องพระราชอาญา”

Categories: law-more for law

 โดย เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา

     ละครบุพเพสันนิวาส นอกจากจะสร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ และเพื่อเป็นการเติมเต็มองค์ความรู้ประกอบการดูละคร คอลัมน์ More for Law ประจำวันศุกร์นี้จึงขอเชิญ “ออเจ้า” ทั้งหลายล้อมวงส่องคันฉ่องมองกฎหมายกรุงเก่าผ่านละครบุพเพสันนิวาส ในตอนที่มีชื่อว่า “เมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ต้องพระราชอาญา”

     เหตุใดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถึงต้องพระราชอาญา?

     เรื่องราวการต้องพระราชอาญาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถูกบันทึกแตกต่างกันออกไปในเอกสารทางประวัติศาสตร์แต่ละฉบับ แต่ที่ปรากฏในละครบุพเพสันนิวาส เห็นว่ามีเค้าโครงอ้างอิงมาจากบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวการต้องพระราชอาญาของเจ้าพระยาโกษาธิบดีผู้นี้ไว้ค่อนข้างละเอียด โดยสรุปได้ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึก แต่เจ้าพระยาโกษาธิบดีได้กราบบังคมทูลทัดทานพระราชประสงค์นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดีมากราบทูลเรื่องนี้เพราะรับเงินสินบนมาจากขุนนางตามหัวเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างป้อม จึงมีพระราชประสงค์ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีสารภาพออกมาเอง แต่ท่านก็ยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมสารภาพ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระพิโรธเป็นและทรงขับออกจากที่เฝ้า หลังจากนั้นจึงมีพระราชโองการให้ลงพระราชอาญามิให้เป็นเยี่ยงอย่าง

     หากพิจารณาจากตรงนี้การรับสินบนของข้าหลวงในสมัยก่อน ดูจะเป็นธรรมเนียมปกติที่ปฏิบัติสืบกันมา ดังที่คุณหญิงนิ่มภรรยาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี กล่าวไว้ในละครว่า “..ทำผิดธรรมเนียมดังนี้ได้อย่างไร มาถึงเรือนชานไม่มีของติดมือมาให้ท่าน” ฉะนั้นการรับสินบนคงจะมิใช่เหตุผลโดยตรงที่เจ้าพระยาโกษาธิบดีถูกลงพระราชอาญา แต่ด้วยเพราะการรับสินบนดังกล่าวนำไปสู่การทัดทานพระราชโอการของพระเจ้าอยู่หัวด้วยเหตุที่ทัดทานและไม่ยอมรับว่าตนรับสินบนนี้ ท่านจึงถูกลงโทษ แต่ถ้าออเจ้าทั้งหลาย ย้อนกลับมาดูกฎหมายในปัจจุบัน คงทราบกันดีว่า การให้สินบนหรือการรับสินบนของเจ้าพนักงานนับเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมาย

     กฎหมายหมายที่ใช้ลงโทษแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

     ในสมัยกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชอาญาสิทธิ์เด็ดขาดในแผ่นดิน ทรงเป็นทั้งผู้รักษา เป็นผู้ตราและใช้บังคับกฎหมาย ดังที่ปรากฏในพระราชกำหนดเก่า ความว่า “..แผ่นดินเปนใหญ่แต่พระมหากระษัตร ด้วยเหตุว่าพระมหากระษัตรเจ้านั้นเป็นสมมติเทวดา..” “…ถ้าสมเดจ์พระมหากระษัตรมีพระราชโองการ ด้วยกิจสิ่งใดๆก็ดี ดุจดั่งขวานฟ้า ถึงมาทว่าผ่าต้องต้นไม้และภูเขามิอาจ์สามารถทนทานได้ ย่อมหักทำลายไป ถ้ามีพระราชโองการตรัสสั่งให้ห้ามสิ่งใดก็ขาดประสิทสิ่งนั้น” ดังนั้นเมื่อทรงมีประประสงค์สิ่งใดย่อมเป็นอย่างนั้น แต่นั่นมิได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์จะตัดสินพระทัยลงพระราชอาญาแก่ผู้ใดได้ตามพระราชประสงค์ พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงคุณย่อมยึดถือ พระธรรมศาสตร์ พระราชศาสตร์ พระราชกำหนดบทพระอัยการต่างๆอันเป็นกฎหมายของแผ่นดิน เพื่อใช้เป็นเครื่องอำนวยสุขแก่อาณาประชาราษฎร

     ทั้งนี้ลักษณะการกระทำความผิดของเจ้าพระยาโกษาธิบดีที่สะท้อนผ่านละคร ถือเป็นการเพ็ดทูลเบื้องสูงและขัดพระบรมราชโองการขององค์พระมหากษัตริย์ ตามกฎมณเฑียรบาลที่มีมาแต่ครั้งกรุงเก่าออกพญาท่านมีโทษถึงประหารชีวิต นอกจากนี้บทพระอัยการลักษณะอาญาหลวง ในมาตรา 7 ยังกำหนดว่า “ผู้ใดทะนงองอาจบ่ยำกลัว เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัว ประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันฑูรพระโองการท่านว่าผู้นั้นละเมิดพระอาญาพระเจ้าอยู่หัว ให้ลงโทษ 8 สถาน”  ซึ่งโทษทั้ง 8 สถาน ประกอบด้วย  ฟันคอ ริบราชบาตร ทวนด้วยลวดหนังหรือไม้หวาย แล้วประจานจำใส่ตรุไว้  ให้ไหมจตุรคูณแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ไหมตรีคูณแล้วเอาตัวออกจากราชการ ให้ไหมทวีคูณแล้วประจาน 3 วัน 7 วัน ให้พ้นโทษ ให้ตัดปากแหวะปากเอามะพร้าวห้าวยัดปาก และให้ภาคทัณฑ์บนไว้  เมื่อพิจารณาตามกฎมณเฑียรบาลและพระอัยการลักษณะอาญาหลวงจึงเห็นได้ว่า โทษสูงสุดที่จะลงแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดีนั้น คือ การประหารชีวิตด้วยการฟันคอและถูกริบราชบาตรจนสิ้น ส่วยโทษขั้นต่ำ คือ การภาคทัณฑ์บนไว้

     อย่างไรก็ดีพระอัยการลักษณะอาญาหลวง ในมาตรา 144 กำหนดเหตุลดหย่อนผ่อนโทษไว้แก่ผู้มีบำเหน็จเคยประกอบคุณงามความดีอย่างหนึ่งอย่างใด ประกอบด้วย “ไปการรณรงสงครามได้รบกับข้าศึกได้ชนช้างมีชัยชนะแก่ศัตรู เอาสมัครพรรคพวกมาอาสาเมื่อการศึกสู้เสียชีวิตเอาชนะแก่ศัตรู  ศัตรูหมู่ร้ายมาปล้นบ้านปล้นเมืองและมีผู้อวดอาสาเอาพระนครไว้มิให้เสียแก่ข้าศึก ผู้บำรุงพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังให้มั่งคั่งบริบูรณ์โดยประเพณีความมิให้เคืองใจราษฎร”  ผู้มีคุณความดีเหล่านี้ เมื่อกระทำความผิดมีโทษประหารใดๆก็ตาม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านให้งดโทษไว้ก่อน ถ้าโทษถึงตายเหตุว่าขบถต่อพระเจ้าแผ่นดิน ก็ควรให้ทวนและริบราชบาตร ถ้าโทษถึงริบราชบาตรและทวน ก็ควรให้ปรับไหม ถ้าโทษถึงปรับไหม ก็ควรให้ภาคทัณฑ์ไว้  กรณีเจ้าพระยาโกษาธิบดี ท่านเคยกระทำคุณงามความดีสนองราชการงานสำนักมิได้ขาดตกบกพร่อง ไปการรณรงสงครามเป็นขุนศึกคู่พระทัย บำรุงพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังให้มั่งคั่งบริบูรณ์มิได้ขาด  เมื่ออนุสรณ์คำนึงถึงความดีดั่งนี้ แม้โทษทัณฑ์จะถึงขั้นประหารและริบราชบาตร แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงตัดสินพระทัยให้ลงพระราชอาญาโดยการทวนด้วยหวายแทน  สะท้อนให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายบ้านเมืองและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์เจ้าผู้ทรงธรรม

     ในบันทึกของบาทหลวง เดอ แบส กล่าวถึงการลงทัณฑ์เจ้าพระยาโกษาธิบดี ไว้ว่า “วิธีลงทัณฑกรรมนี้ก็คือ เขาจับผู้กระทำผิดมัดมือโยงทั้งสองข้าง แล้วเฆี่ยนหลังอันเปลือยเปล่าลงมาถึงบั้นเอว ด้วยหวายเส้นเล็กๆ พันด้วยเชือกเส้นเล็กๆ ที่แข็งมาก จำนวนครั้งที่โบยนั้นเป็นไปตามโทษานุโทษ แต่โดยธรรมดาแล้วการโบยนั้นก็ถลกหนังออกจากหลังนั่นทีเดียว” ในบันทึกยังกล่าวต่อไปให้เห็นถึงปัจฉิมบทของเจ้าพระยาโกษาธิบดีว่า “ท่านพระยาพระคลังได้รับการลงทัณฑ์โบยอย่างหนัก ประกอบกับความอับอายขายหน้าจึงได้ล้มป่วยเป็นไข้มีอาการหนัก แต่ท่านก็โทษตัวของท่านเองที่ต้องได้รับทัณฑ์อย่างสาหัสถึงปานนั้น”

     ความส่งท้าย

     และนี่คือเงาสะท้อนผ่านคันฉ่องของละครบุพเพสันนิวาสที่เผยให้เห็นถึงกฎหมายและตัวอย่างการลงพระราชอาญาในอดีต โทษทัณฑ์ที่ปรากฏในพระอัยการลักษณะอาญาหลวงใช้บังคับมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ต้นแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังได้ถูกยกเลิกไปเมื่อประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 และเปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน ซึ่งเหลือโทษทางอาญาเพียง 5 สถาน ประกอบด้วย ริบทรัพย์ ปรับ กักขัง  จำคุก และประหารชีวิต ส่วนกรณีผู้กระทำความผิดเคยประกอบคุณงามความดีมาก่อน ศาลอาจยกเหตุนี้เพื่อลดหย่อนผ่อนโทษได้คล้ายคลึงกฎหมายยุคกรุงเก่า

     ในตอนหน้า ส่องคันฉ่องมองกฎหมายกรุงเก่าผ่านละครบุพเพสันนิวาส จะเป็นเรื่องอะไร โปรดติดตามครับ

รายการอ้างอิง
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ตำนานกฎหมายเมืองไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒนากร, 2473
เดอะ แบส. บันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอคอน แปลโดย
สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา, 2550.
มองซิเออร์ เดอลาลูแบร์. ราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา,สมชาย พุ่มสะอาด,สมพงษ์ เกียงไกรเพชร,กมล วิชิตศรศาสตร์. 400 ปีสมเด็จพระนเรศวร. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : พุทธบูชาการ, 2527.
เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว.. กฎหมายสมัยอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2559
ละครบุพเพสันนิวาส ตอนที่ 9 www.youtube.com/watch

  • 3260