ปกิณกะข้อพิพาทยูเครน-รัสเซีย  จากวังสันติภาพถึงเครมลิน ตอนที่ 1 “รัสเซียต้องระงับปฏิบัติการทางทหารในดินแดนของยูเครนโดยทันที”

Categories: law-more for law

 

ปกิณกะข้อพิพาทยูเครน-รัสเซีย 
จากวังสันติภาพถึงเครมลิน ตอนที่ 1
“รัสเซียต้องระงับปฏิบัติการทางทหารในดินแดนของยูเครนโดยทันที”

เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา


    
          ประเด็นพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงเป็นที่สนใจทั้งสังคมภายในและสังคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงนักการระหว่างประเทศทุกกลุ่มสาขา ซึ่งรวมถึงนักกฎหมายระหว่างประเทศด้วย คอลัมน์ MORE FOR LAW ของสำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล.วันนี้ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอปกิณกะจากวังสันติภาพถึงเครมลิน ตอนที่ 1 ให้ผู้อ่านได้ทราบถึงการเข้ามามีบทบาทของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และแง่มุมทางกฎหมายบางประการในการระงับข้อพิพาทระหว่างยูเครนผู้ฟ้องคดีและรัสเซียซึ่งเป็นคู่พิพาท ซึ่งบทความนี้อาจจะได้ช่วยเสริมสร้างสิ่งละอันพันละน้อยให้ท่านผู้อ่านได้ต่อภาพจิ๊กซอร์ได้สมบูรณ์ขึ้นจากการอ่านหรือคุเนคว้าเรื่องราวนี้จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ 
ผู้เขียนขอเริ่มเรื่องไปที่ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์  2565 ยูเครนได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จากกรณีที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในดินแดนของยูเครน นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อพิจารณาคำฟ้องเริ่มคดีของยูเครน พบเนื้อหาที่น่าสนซึ่งพอจะสรุปให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงสิ่งที่ยูเครนฟ้องรัสเซีย กล่าวคือ  ในคำฟ้องระบุว่า สหพันธรัฐรัสเซียกล่าวอ้างด้วยความเท็จว่า เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นในเขตปกครองตนเองลูฮันสค์และโดเนตสค์ของยูเครน และรับรองสิ่งที่เรียกว่า "สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์" และ "สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์” ด้วยพื้นฐานเช่นว่านี้ รัสเซียจึงได้ประกาศและดำเนินการ “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ต่อต้านยูเครนโดยอ้างเหตุผลเพื่อป้องกันและลงโทษการกระทำที่อ้างว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งยูเครนยืนยันต่อศาลว่าไม่มีพื้นฐานแห่งข้อเท็จจริง และดูเหมือนรัสเซียเองที่วางแผนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน 


         ทั้งนี้การฟ้องคดีของยูเครนเป็นไปตามข้อ 9 ของอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 โดยทั้งยูเครนและรัสเซียต่างก็เป็นรัฐภาคีอยู่ โดยข้อบทดังกล่าวกำหนดว่า “ข้อพิพาทระหว่างอัครภาคีที่เกี่ยวข้องกับการตีความ การใช้บังคับ หรือการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐสำหรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์...จักยื่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยคำร้องขอของอัครภาคีใดๆผู้เป็นฝ่ายในข้อพิพาท” และเป็นไปตามข้อ 36(1) ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  ซึ่งถือว่าเป็นการยอมรับเขตอำนาจการพิจารณาคดีของศาลโดยผลของสนธิสัญญา นอกจากนี้ประเทศทั้งสองไม่ได้ตั้งข้อสงวนในข้อ 9 ของอนุสัญญาฯ ที่จะไม่นำคดีไปสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไว้  จึงเท่ากับเป็นการประกันในเบื้องต้นว่า ยูเครนจะสามารถฟ้องรัสเซียต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยและมีคำพิพากษาในท้ายที่สุดต่อไปได้ 


          นอกจากนี้ยูเครนได้ยื่นคำขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวมาในคำฟ้องดังกล่าวด้วย โดยมุ่งหมายที่จะปกป้องสิทธิของตนไม่ให้อยู่ภายใต้ปฏิบัติการทางทหารของรัฐอื่นในอาณาเขตของตนและไม่อยู่ภายใต้ข้อกล่าวอ้างอันเป็นเท็จของรัสเซีย และแถลงย้ำด้วยวาจาต่อศาล ในการเปิดรับฟัง(public hearings) คำร้องขอกำหนดมาตรการชั่วคราว ในวันที่ 7 และ 8 มีนาคม 2565 โดยยูเครนร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการ ดังนี้

 

            1. สหพันธรัฐรัสเซียจักต้องระงับปฏิบัติการทางทหารซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565  ซึ่งอ้างว่าทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและลงโทษข้อกล่าวอ้างเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขตปกครองตนเองลูฮันสค์และโดเนตสค์ของยูเครนโดยทันที
            2. สหพันธรัฐรัสเซียจักต้องทำให้มั่นใจว่าหน่วยทหารหรือหน่วยติดอาวุธใดๆ ซึ่งอาจจะได้ปฏิบัติการหรือได้รับการสนับสนุนโดยรัสเซีย รวมถึงหน่วยงานและบุคคลใด ๆ ที่อาจอยู่ภายใต้การควบคุม สั่งการ หรือ อิทธิพล จะไม่ดำเนินการใดๆเพิ่มเติมในการปฏิบัติการทางทหารซึ่งอ้างว่าทำไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและลงโทษยูเครนจากข้อกล่าวอ้างเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
           3. สหพันธรัฐรัสเซียจักต้องละเว้นจากการกระทำใดๆก็ตามและประกันว่าจะไม่มีการกระทำที่อาจซ้ำเติมหรือขยายข้อพิพาทตามคำฟ้อง หรือทำให้ยากต่อการแก้ไข
           4. สหพันธรัฐรัสเซียจักต้องรายงานต่อศาลเกี่ยวกับมาตรการที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาล ภายใน 1 สัปดาห์ภายหลังศาลมีคำสั่งดังกล่าว และรายงานต่อศาลเป็นคราวๆตามที่ศาลกำหนด 

 

          ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 ณ วังสันติภาพ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ “ศาลโลก” ได้ออก “คำสั่งมาตรการชั่วคราว” (provisional measures order) หนังเปิดรับฟังผู้แทนจอกรัฐคู่พิพาทแถลงด้วยวาจาต่อศาล โดยศาลกำหนดมาตรการชั่วคราว ดังนี้


            1. ด้วยคะแนนเสียง 13 ต่อ 2 สหพันธรัฐรัสเซียจักต้องระงับปฏิบัติทางทหารซึ่งได้ทำลงตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ในดินแดนของยูเครนโดยทันที
            2. ด้วยคะแนนเสียง 13 ต่อ 2 สหพันธรัฐรัสเซียจักต้องประกันว่าหน่วยทหารหรือหน่วยติดอาวุธใดๆ ซึ่งอาจจะได้ปฏิบัติการหรือได้รับการสนับสนุนโดยรัสเซีย รวมถึงหน่วยงานและบุคคลใด ๆ ที่อาจอยู่ภายใต้การควบคุมหรือสั่งการจะไม่ดำเนินการใดๆเพิ่มเติม ในการปฏิบัติการทางทหารที่อ้างถึงในข้อ 1
           3. ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ทั้งสองฝ่ายจักต้องละเว้นจากการกระทำใดๆก็ตามที่ทำให้ข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลนั้นเลวร้ายยิ่งขึ้นหรือขยายออกไป หรือทำให้ยากต่อการแก้ไข

 

         การออกคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวข้างต้น เป็นการใช้อำนาจตามข้อ 41 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งหากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นตามพฤติการณ์ ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดมาตรการชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของคู่ความได้ ทั้งนี้การออกคำสั่งดังกล่าวเป็น เป็นเพียงกระบวนพิจารณาส่วนหนึ่ง (incidental proceedings) ของคดีหลัก เป็นคำสั่งระหว่างรอคำวินิจฉัยสุดท้าย นั่นหมายความว่า คำสั่งทั้ง 3 ข้อ ไม่ใช่ส่วนของคำพิพากษา การพิจารณาในส่วนของคดีคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรโดยเริ่มต้นจากการพิจารณาเรื่องเขตอำนาจของศาลก่อนการพิจารณาเนื้อหาของคดี 

 

          ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวในครั้งนี้ คือ ศาลโดยผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่าการกระทำของรัสเซียเป็นการใช้กำลังทหาร (use of force) ในดินแดนของยูเครน ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้ายแรงมากในทางกฎหมายระหว่างประเทศ โดยศาลเห็นว่ารัฐทั้งปวงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ และกฎเกณฑ์อื่นๆของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งกฎหมายมนุษยธรรมด้วย  ซึ่งในกฎบัตรสหประชาชาติกำหนดไว้ชัดแจ้งถึงพันธกรณีที่รับสมาชิกสหประชาชาติจักต้องละเว้นจากการใช้กำลังในทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุกคามบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐอื่น นอกจากนี้ในคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาล ย่อหน้าที่ 60 ศาลยังระบุด้วยว่า ยูเครนมีสิทธิที่จะไม่อยู่ภายใต้ปฏิบัติการทางทหารของสหพันธรัฐรัสเซียเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและการลงโทษการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ถูกกล่าวหาในดินแดนของประเทศยูเครนเอง  


          ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ บทปฏิบัติการของคำสั่งมาตรการชั่วคราว ข้อ 1 และข้อ 2 มีผู้พิพากษาไม่เห็นด้วย 2 ท่าน คือ คือรองประธานศาล Gevorgian ซึ่งมีสัญชาติรัสเซีย และผู้พิพากษา Xue ซึ่งสัญชาติจีน  ผู้เขียนขอนำข้อคิดเห็นบางส่วนของผู้พิพากษาทั้งสองท่านมานำเสนอต่อผู้อ่าน ดังนี้ ผู้พิพากษา Gevorgian เห็นว่า ที่สุดแล้วศาลไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ศาลจะมีเขตอำนาจก็แต่โดยอาศัยความยินยอมของรัฐที่จะนำข้อพิพาทระหว่างกันนั้นไปสู่ศาล ซึ่งในคดีนี้นี้รัสเซียได้ยื่นจดหมายมายังศาลเพื่อปฏิเสธเขตอำนาจของศาลแล้ว โดยผู้พิพากษา Gevorgian อ้างถึงข้อ 36 (2) ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยระบุว่ารัสเซียและยูเครนไม่เคยทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลไว้ และการฟ้องร้องคดีของยูเครนซึ่งอาศัยความตามข้อ 3 ของอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ไม่อาจนำมาใช้ได้กับประเด็นที่ยูเครนเสนอต่อศาลซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้กำลังทางทหารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว   และผู้พิพากษา Xue เห็นว่า การออกคำสั่งในข้อ 1 และข้อ 2 นั้น ไม่เชื่อมโยงกับสิทธิที่ยูเครนจะเรียกร้องได้ภายใต้อนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  นอกจากนี้ยังเห็นว่าปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ไม่อาจนำอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาใช้ได้โดยตรง เพราะประเด็นที่ยูเครนหยิบยกต่อศาลคือคำถามเกี่ยวกับการรับรองและการใช้กำลังในกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าว  ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้พิพากษา Gevorgian เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านบางท่านอาจตั้งข้อสงสัยว่า หรือเพราะผู้พิพากษาทั้งสองท่านมีสัญชาติของประเทศคู่พิพาทและสัญชาติประเทศพันธมิตร จุดนี้ก็สุดแท้แต่ทรรศนะของผู้อ่านจะเห็นเป็นประการใด แต่หากพิจารณาเหตุผลทางกฎหมายที่ทั้งสองท่านไม่เห็นด้วย ก็ถือว่าน่าสนใจมากทีเดียวและควรค่าแก่การถกเถียงทางวิชาการต่อไป อนึ่งในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 2 ก็กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศประกอบขึ้นจากผู้พิพากษาที่เป็นอิสระ มีคุณธรรมสูง มีความสามารถทางกฎหมายระหว่างประเทศเป็นที่ยอมรับ ฉะนั้นโดยหลักการที่ถูกต้อง การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มิใช่การปฏิบัติในนามรัฐเจ้าของสัญชาติ และย่อมเป็นอิสระจากอาณัติใดๆของรัฐเจ้าของสัญชาติด้วย  
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในท้ายที่สุดศาลจะรับฟ้องคดีของยูเครน  และมีคำสั่งใดๆระหว่างรอคำพิพากษา หรือมีคำพิพากษาที่สุดแล้วเป็นคุณต่อยูเครน ความท้าทายที่แท้จริง คือ ความเป็นไปได้ในการบังคับตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีนี้
 

  • 1901