การยุติการตั้งครรภ์: เมื่อกฎหมายบังคับให้สังคมเปลี่ยนแปลง

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

 

การยุติการตั้งครรภ์: เมื่อกฎหมายบังคับให้สังคมเปลี่ยนแปลง

ณัฐดนัย นาจันทร์
สิริลักษณ์ บุตรศรีทัศน์

    “สังคมไทยเป็นสังคมที่ผูกยึดอยู่กับความเชื่อในศาสนา” ข้อความนี้เป็นข้อความที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ โดยเฉพาะเมื่อสำรวจตรวจสอบประวัติศาสตร์ของสังคมการเมืองไทย ที่มีการกล่าวถึงศาสนาพุทธในฐานะศาสนาประจำชาติ และในฐานะของหนึ่งในแก่นกลางของระบบการเมืองการปกครองแบบไทย1 การดำรงอยู่ของศาสนาที่ผูกติดอยู่กับสังคมและระบบการเมืองอย่างแน่นแฟ้นนี้ ประการหนึ่งย่อมส่งผลให้ค่านิยมบางประการของศาสนาถูกถ่ายเทออกมาจนกลายเป็นค่านิยมพื้นฐานของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อเกี่ยวกับบุญหรือบาปอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการพรากชีวิตของบุคคล


    ภายใต้โครงสร้างสังคมที่มีความเชื่ออย่างแนบแน่นว่าการพรากชีวิตของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไปนั้นเป็นบาปอย่างใหญ่หลวง ย่อมก่อให้เกิดระบบกฎหมายที่พยายามห้ามมิให้เกิดการพรากชีวิตของบุคคลในทุกกรณีด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับการพรากชีวิตของตัวอ่อนหรือของทารกในครรภ์มารดาที่ยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะแสดงออกซึ่งการปกป้องและเรียกร้องสิทธิให้กับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในการมีชีวิต อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การห้ามมิให้หญิงยุติการตั้งครรภ์โดยอิสระจะดูสอดคล้องกับลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมไทย อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติที่กำหนดโทษในทางอาญาสำหรับการห้ามมิให้หญิงยุติการตั้งครรภ์นั้นพึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2452 เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ขึ้น โดยกำหนดไว้เป็นความผิดในส่วนที่เจ็ด หมวดที่สาม ว่าด้วยความผิดฐานรีดลูก ทั้งนี้ หากพิจารณาย้อนหลังไปถึงกฎหมายตราสามดวงและพระอัยการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีการประกาศใช้ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์และสืบสายมาจากระบบกฎหมายในช่วงสมัยอยุทธยาแล้ว จะพบว่าไม่มีการกำหนดโทษสำหรับการยุติการตั้งครรภ์โดยหญิงไว้เลย2 


    กล่าวโดยย่อแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าแม้การยุติการตั้งครรภ์จะมีลักษณะที่ขัดแย้งกับศีลธรรมอันเป็นรากฐานความเชื่อของสังคมไทย จนได้รับการบัญญัติห้ามไว้ในประมวลกฎหมายซึ่งกำหนดโทษในต่อเนื้อตัวและร่างกายในทางอาญา แต่การกำหนดโทษนั้นพึ่งมีขึ้นก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่นาน อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า สังคมไทยได้ซึมซับและยอมรับให้การยุติการตั้งครรภ์นั้นไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย แต่ยังเป็นสิ่งที่ขัดต่อคุณค่าและรากฐานความเชื่อของสังคม ข้อสังเกตประการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการสนับสนุนเหตุผลดังกล่าวได้ นั่นคือแม้ก่อนที่จะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้หญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างอิสระ จะมีการให้บริการจากรัฐเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาปัญหาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม รวมทั้งมีการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยคลินิกบริการต่าง ๆ3 แต่การให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยเปิดเผยในลักษณะที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐนั้นเริ่มทำอย่างจริงจังภายใต้เครือข่ายอาสา RSA (Referral system for Safe Abortion) นั้นถูกดำเนินการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 25574 ในขณะที่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น การยุติการตั้งครรภ์มีลักษณะเป็นการให้บริการเชิงลับและไม่เปิดเผยนัก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้การยุติการตั้งครรภ์ที่แม้จะสามารถรับรู้ว่ามีการให้บริการได้อย่างง่ายดายต้องเข้าไปสู่มุมมืด หรืออยู่ “ใต้ดิน” ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากปัญหาความหวาดกลัวของผู้ใช้บริการเองต่อการถูกตีตราจาก
สังคม5 เมื่ออุปสงค์เกิดขึ้นในที่ลับ อุปทานย่อมเกิดขึ้นในที่ลับและปราศจากความคุ้มครองใด ๆ จากรัฐไปด้วยอันเป็นเรื่องปรกติ


    เป็นที่น่ายินดีว่าบรรทัดฐานของสังคมกำลังถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กำหนดให้การยุติการตั้งครรภ์สำหรับหญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์นั้นไม่เป็นความผิด และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิดเช่นเดียวกัน6

 
    ภายใต้ความในประมวลกฎหมายอาญาที่มีการแก้ไขใหม่นั้น นอกจากจะเป็นการรับรองให้หญิงสามารถแสดงออกซึ่งสิทธิในการกำหนดตนเองและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และความเป็นเจ้าของเหนือเนื้อตัวร่างกายของตนได้อย่างสมบูรณ์ในแง่มุมของกฎหมายแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้การยุติการตั้งครรภ์สามารถกระทำได้โดยปลอดภัยอีกด้วย เมื่อบุคลากรทางการแพทย์สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่แพทยสภาจะได้กำหนดต่อไป ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นการใช้กฎหมายบังคับให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป คือเปลี่ยนจากความเชื่อและความคิดที่ว่าการยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นบาปและควรได้รับโทษทางอาญา มาเป็นการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย ซึ่งสามารถทำได้ไม่ต้องรับโทษหากกระทำลงภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด


    อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะทัศนคติที่มีต่อการยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ผู้เขียนเห็นว่า ลำพังเพียงแค่การแก้ไขกฎหมายให้การยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้โดยไม่มีโทษและปลอดภัยภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ แต่การบังคับให้สังคมเปลี่ยนแปลงในแง่นี้อาจประสบเข้ากับปัญหาได้ ภายใต้เหตุผลดังที่จะกล่าวต่อไปนี้


    เนื่องจาก “กฎหมาย” และ “การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกันและกันได้ คือมีความสัมพันธ์แบบซึ่งกันและกัน (reciprocity)7 นั่นหมายความว่าแม้กฎหมายอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตัวบทกฎหมายได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก แต่หมายความถึงการระงับการเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์ด้วย8 ทั้งนี้ หากกฎหมายบังคับให้สังคมต้องเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ขัดหรือแย้งต่อศีลธรรมและความเชื่อพื้นฐานของคนในสังคมแล้ว กฎหมายย่อมประสบกับแรงต้านของสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้9 เช่นเดียวกัน หากสังคมประสงค์ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่พึงปรารถนาโดยกฎหมายแล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมถูกต่อต้านโดยกฎหมายผ่านการตรากฎหมายเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลง


    ในการณีของการยุติการตั้งครรภ์นั้น แม้ในปัจจุบันกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เปิดกว้างและทำให้การยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้โดยอย่างถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องปะทะกับความเชื่อของสังคมโดยเฉพาะในเรื่องการทำบาปตามความเชื่อในศาสนาพุทธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนนั่นคือข้อวิพากษ์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบังคับฝืนใจให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องกระทำการในสิ่งที่ขัดหรือแย้งต่อความเชื่อของตนเอง10 และในขณะเดียวกัน การที่กฎหมายอนุญาตให้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันเสมอไปว่าสิ่งที่เคยกระทำในมุมที่แสงส่องไม่ถึงของสังคมจะถูกนำมากระทำและปฏิบัติในที่แจ้ง โดยเฉพาะภายใต้แรงกดดันทางสังคมว่าด้วยบุญ บาป และการกำหนดคุณค่าในเชิงลบให้กับผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์


    กล่าวอีกนัยหนึ่ง ลำพังการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่ออนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้นั้น เป็นเพียงแค่การเปิดช่องให้แสงส่องลงไปในมุมมืดของสังคม แต่ไม่เป็นการบังคับให้ซึ่งที่อยู่ในมุมมืดต้องออกมารับแสงนั้น โดยเฉพาะเมื่อมีคุณค่าทางศีลธรรมของสังคมเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้คนเดินเข้าไปหาแสงที่ส่องลงมา ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะประการสำคัญต่อการนำเอาการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาใช้ในฐานะของเครื่องมือที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ยอมรับการยุติการตั้งครรภ์โดยภายใต้ทางเลือกของหญิงผู้ตั้งครรภ์นั้น นั่นคือการอย่าไว้ใจกฎหมายในฐานเครื่องมือเด็ดขาดที่สามารถใช้ในการเปลี่ยนแปลงได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยอมรับว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือเล็ก ๆ ที่แทบจะไม่มีพลังเลยหากต้องไปคัดง้างกับความเชื่อที่ฝังอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน หากนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 มาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) ก็เป็นเวลามากกว่า 112 ปีที่ชุดความเชื่อเรื่องบาปบุญผสานเข้ากับกฎหมายห้ามยุติการตั้งครรภ์หากไม่จำเป็น จนกลายมาเป็นกำแพงขวางกั้นไม่ให้การยุติการตั้งครรภ์ได้รับการยอมรับในสังคมไทย11 สิ่งหนึ่ง ที่ภาครัฐควรทำคือการนำเสนอนโยบายและเผยแพร่ข้อความคิดในลักษณะที่สนับสนุนให้การยุติการตั้งครรภ์ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ สามารถกระทำได้บนพื้นฐานของคุณค่าสากลเช่นศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้การยุติการตั้งครรภ์นั้นสามารถกระทำได้ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐโดยไม่ตกเป็นที่ครหาหรือถูกตราหน้าโดยค่านิยมในสังคมว่าเป็นการทำบาป 


    ตราบใดก็ตามที่ภาครัฐเรายังไม่สนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยภายใต้กลไกอื่น ดังเช่นการกำหนดนโยบายและการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเชื่อของสังคมแล้ว การอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายก็จะเป็นเพียงการอนุญาตให้สิ่งที่เดิม กระทำอยู่ในที่ลับ สามารถกระทำต่อไปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ก่อให้เกิดการนำเอาสิ่งดังกล่าวออกมาสู่แสงแห่งการยอมรับของสังคมเพื่อคุ้มครองให้การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยนั้นสามารถเข้ารับบริการได้ง่าย ทั่วถึง และปราศจากการตีตราจากสังคมในฐานะของผู้ที่กระทำผิดต่อบาปและค่านิยมของสังคม


    ทั้งนี้ ผู้เขียนขอกล่าวเพิ่มเติมต่อไปว่า แม้กฎหมายจะอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายแล้วก็ตาม ผู้เขียนยังคงเห็นว่ารัฐควรให้การคุ้มครองบรรดาสิทธิทั้งหลายของตัวอ่อนและของทารกในครรภ์มารดาเช่นเดียวกัน การอนุญาตให้มีการยุติการตั้งครรภ์โดยแต่ไม่มีมาตรการเพิ่มเติมที่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิของทารกในครรภ์มารดาและการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกับเพศศึกษานั้น ในทัศนะของผู้เขียน รั้งแต่จะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยใด ๆ ก็ตามที่ไม่ใช่การกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งหากไม่มีการส่งเสริมหรือให้ความรู้ในส่วนนี้ ประกอบกับความพยายามในการคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์มารดาแล้ว การให้สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์รั้งแต่จะกลายเป็นมาตรการทางกฎหมายที่สนับสนุนให้การละเมิดเสรีภาพในชีวิตและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตัวอ่อนและของทารกในครรภ์มารดามีมากขึ้นเท่านั้น12
    
รายการอ้างอิง
1. Michael Kelly Connors, Democracy and National Identity in Thailand (Malaysia: NIAS Press, 2007), pp. 113-114, 130 and 234.
2. ศิริพร รุ่งรัตน์ธวัชชัย, "การทําแท้ง: ศึกษาปัญหาทางกฎหมายกรณีที่มารดามีปัญหาทางจิต" (นิติศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2557), หน้า 15.
3. RSA Thai, “ยุติการตั้งครรภ์: คำถามก่อนเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์” [ออนไลน์], เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2564. แหล่งที่มา www.rsathai.org/networkservice ;
4. RSA Thai, แถลงการณ์ข้อเท็จ จริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย จากเครือข่ายอาสา RSA [ออนไลน์], เข้าถึงเมื่อ 17 เมษายน 2564 แหล่งที่มา www.rsathai.org/wp-content/uploads/2021/01/แถลงการณ์ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย-จากเครือข่ายอาสา-RSA-วันที่-3-มกราคม-2564.pdf
5. ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง, “เครือข่ายอาสา RSA แถลงการณ์ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย” [ออนไลน์], เข้าถึงเมื่อ 17 เมษายน 2564. แหล่งที่มา www.tcijthai.com/news/2021/1/current/11301 และ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม, “13 ปีกับ 4 ภารกิจของเครือข่ายท้องไม่พร้อม” [ออนไลน์], เข้าถึงเมื่อ 17 เมษายน 2564. แหล่งที่มา choicesforum.org/tag/ท้องไม่พร้อม/
6. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 (ความผิดฐานทำให้แท้งลูก),” 10 เมษายน 2564
7. Steven Vago and Steven E. Barkan, Law and Society, 11 ed. (New York: Routledge, 2018), pp. 208-210.
8. Ibid, p. 215.
9. Ibid, pp. 221-224.
10. มติชนออนไลน์, "แพทย์รวมตัว ยื่นร้องผู้ตรวจฯส่งศาล รธน.ตีความ แก้ กม.ทำแท้งใหม่ ชี้ขัด รธน." [ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อ 17 เมษายน 2564. แหล่งที่มา:  https://www.matichon.co.th/politics/news_2562234
11. ตัวอย่างของข้อถกเถียงว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ที่มีฐานอยู่บนพื้นฐานของศาสนาที่น่าสนใจเช่น งานของ ศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับการทำแท้ง” ใน philoflanguage.wordpress.com/2012/07/23/พระพุทธศาสนากับการทำแท/, กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล “แท้ง-ท้อง ยังไม่มี ‘ทางเลือก’ ให้ผู้หญิงในกฎหมายและศีลธรรม” ใน prachatai.com/journal/2017/11/74086 และ ไพฑูรย์ สวนมะไฟและอุทัย สติมั่น เรื่อง “การท าแท้ง: วิกฤติของพุทธจริยธรรมในสังคมไทย” ใน วารสารนวัตกรรมการศึกษาและการวิจัย ปีที่ 1ฉบับที่ 3 กันยายน–ธันวาคม 2560
12. นิตยา จงแสง, “การรับรองและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์: ศึกษากรณีการกำหนดสถานของสภาพบุคคล,” (นิติศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), หน้า 42-45.

  • 7688 ครั้ง