รำลึก 76 ปีแห่งการลงนามกฎบัตรสหประชาชาติ : ปกิณกะแห่งปฐมความ “WE THE PEOPLES OF THE UNITED NATIONS”

หมวดหมู่ข่าว: law-more for law

 

รำลึก 76 ปีแห่งการลงนามกฎบัตรสหประชาชาติ : 
ปกิณกะแห่งปฐมความ “WE THE PEOPLES OF THE UNITED NATIONS”

เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา

          26 มิถุนายน 1945 ณ นครซานฟรานซิสโก กฎบัตรสหประชาชาติได้รับการลงนาม หลังเสร็จสิ้นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ และมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 1945 เป็นต้นมา เพื่อเป็นสักขีพยานแห่งการครบรอบการลงนาม 76 ปี ขอเสนอปกิณกะปฐมความแห่งกฎบัตรฯ  "We the peoples of the United Nations" หรือเมื่อแปลเป็นภาษาไทย ความว่า “เราบรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติ” นี่คือถ้อยคำขึ้นต้นในอารัมภบท(preamble)ของกฎบัตรสหประชาชาติ ถ้อยความนี้ถูกเสนอขึ้นโดยผู้แทนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความมุ่งหมายเพื่อเน้นว่า กฎบัตรฉบับนี้เป็นการแสดงเจตนำนงของประชาชาชนโลก และเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของประชนเป็นหลัก  ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอของผู้แทนสหรัฐได้รับแรงบันดาลใจจากคำขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเอง ที่ขึ้นต้นว่า “We the People of the United States” 


          การรับรองถ้อยความที่กล่าวขึ้นต้นถึง “ประชาชน” นั้นแตกต่างไป ความตกลงระหว่างประเทศโดยทั่วไป และแตกต่างจากอดีตเมื่อครั้งยกร่างกติกาสันนิบาตชาติ(Covenant of the League of Nations)  โดยกติกาสันนิบาตชาติ ได้กล่าวถึงเพียงเฉพาะรัฐหรือรัฐบาลทั้งหลายเท่านั้น ในฐานะที่เป็นภาคีแห่งกติกาฯ 

 

          อย่างไรก็ตาม แม้การยกร่างกฎบัตรสหประชาชาติจะใช้คำว่า “เราบรรดาประชาชนแห่งสหประชาชาติ” “ได้ตั้งเจตจำนง” แต่ความตกลงแท้จริง (actual agreement)ในกฎบัตรนั้นเป็นพันธกรณีระหว่างรัฐบาลเท่านั้น โดยนัยนี้ถ้อยคำในอารัมภบทวรรคท้าย ก่อนนำเข้าสู่บทบัญญัติ จึงได้กำหนดไว้ว่า “ในอันที่จะให้สำเร็จตามความมุ่งหมาย…รัฐบาลของเราโดยผู้แทนที่มาร่วมชุมนุม ณ นครซานฟรานซิสโก จึงได้ตกลงกันตามกฎบัตรสหประชาชาติฉบับนี้“ (Accordingly our respective Governments, through representatives assembled in the city of San Francisco ... have agreed to the present Charter of the United Nations.) สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าเจตนารมณ์แท้จริงที่อยู่ในอารัมภบทของกฎบัตร เป็นการยืนยันอย่างจริงจังถึงพันธะหน้าที่ของรัฐในนาม “ประชาชนแห่งสหประชาชาติ” 

 

          ในโอกาสครบรอบ 76 ปีแห่งการลงนามกฎบัตรสหประชาชาติ ปัญหาความขัดแย้ง พิษภัยแห่งการขัดกันทางอาวุธ โรคระบาด การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนทั่วโลกยังคงดำเนินไปแบบที่ไม่ควรจะเป็น สมควรที่รัฐสมาชิกทั้ง 193 ประเทศจะผสานความจริงใจ เพื่อเคารพและปฏิบัติตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ “ธรรมนูญเพื่อประชาชนโลก” 


          เกร็ดส่งท้าย  ในข้อเสนอ Dumbarton Oaks คำว่า “The United Nations”(สหประชาชาติ) ถูกเสนอให้เป็นชื่อองค์การ ชื่อนี้เสนอโดย ประธานาธิบดี Roosevelt แห่งสหรัฐ และ Field Marshal Smuts แห่งสหภาพแอฟริกัน เมื่อคราวกล่าวถ้อยแถลงต่อสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1942

  • 2498 ครั้ง